ข่าวการศึกษา

แถลงข่าวความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค อย่าเชื่อข่าวลือ…

ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559 ที่ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ (MOC)

IMG20160328144541

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ คสช. ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเพื่อบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับเสียงสะท้อนกลับมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งคำชื่นชม ความเห็นต่าง ซึ่งก็มีทั้งเจตนาบริสุทธิ์และบางส่วนก็มีเจตนาที่จะบิดเบือน จึงขอเรียนชี้แจงต่อสื่อมวลชนใน 4 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

แถลงข่าวความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค อย่าเชื่อข่าวลือ...ประเด็นที่มีความคลาดเคลื่อนและการสร้างความกังวลใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา

จากข้อมูลในแหล่งต่างๆ ที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครูที่จะต้องโอนไปอยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), การเปลี่ยนตำแหน่งครูเป็นพนักงานราชการ, จะไม่มีเงินวิทยฐานะ, ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ, ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็จะถูกยุบให้เหลือจังหวัดละเขต, จะมีผู้มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด, กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเดิมอาจกลับเข้ามารับตำแหน่งอีก, ผู้บริหารโรงเรียนจะถูกประเมินโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.), การยุบคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), ยกเลิกโครงการเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.), ในอนาคตรัฐจะจัดการศึกษาโดยใช้คูปอง และจะมีโรงเรียนเอกชนเกิดขึ้นในทุกตำบล นั้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าข้อมูลต่างๆ ข้างต้นล้วนแล้วแต่ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น จึงขอให้ครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าได้หลงเชื่อหรือตื่นตระหนก และอย่าได้กังวลใจใดๆ เพราะขณะนี้ครูและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังคงอยู่ โดยมีตำแหน่งและสถานะเหมือนเดิม รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ สกสค.เช่นกัน ในส่วนของการประเมินผู้บริหารโรงเรียนนั้น ยังคงอยู่ในอำนาจบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการตามลำดับชั้น ได้แก่ ศึกษาธิการภาคเป็นผู้ประเมินศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประเมินผู้บริหารโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้ประเมินครู

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีการบิดเบือนข้อมูลว่ายังไม่มีความเหมาะสมทางวิชาการและไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษานั้น เชื่อว่าด้วยอำนาจหน้าที่ที่ระบุในคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการการศึกษาในแต่ละจังหวัดในรูปแบบขององค์คณะบุคคล ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดในยุคนี้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ รู้บทบาทของตนเอง และรู้ปัญหาจุดอ่อนในพื้นที่เป็นอย่างดี ย่อมจะช่วยบูรณาการงานด้านการศึกษาทุกส่วนในจังหวัดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้ามาช่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ


แถลงข่าวความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค อย่าเชื่อข่าวลือ...ข้อเสนอแนะของนักวิชาการและนักการเมือง

ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะในหลายประเด็น อาทิ การปฏิรูปเช่นนี้เป็นแบบกลับหัวกลับหาง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ, ไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียน, มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยแอพพลิเคชั่นแบบหลงทิศทาง, มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบ่อยครั้ง, เด็กได้อะไรจากการปรับระบบบริหารราชการในภูมิภาค เป็นต้น

ในส่วนนี้ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะหลุดออกจากวังวนเดิม เพื่อเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา ซึ่งในเรื่องของครูถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครูอย่างแน่นอน เพราะทำให้การเกลี่ยครูและการบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถใช้บัญชีครูและผู้บริหารในการบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่ขาดแคลนได้อย่างคล่องตัว โรงเรียนได้ครูที่ตรงกับความต้องการ ทำให้มีครูครบชั้นเรียน มีครูสอนตรงวิชาเอกและครูมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนโดยตรง นอกจากนี้ระบบการบริหารราชการใหม่ ได้มีการกระจายอำนาจไปยังระดับจังหวัด ซึ่งมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ส่วนจะกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนได้อย่างไรนั้น จะใช้แนวทางด้านความพร้อมเป็นตัวกำหนด หากโรงเรียนใดพร้อมก่อนก็จะกระจายอำนาจไปให้ แต่จะไม่ใช้ปัจจัยด้านเวลามาเป็นตัวกำหนด

ส่วนการใช้แอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ หรือ Echo English นั้น ออกแบบมาเพื่อใช้ฝึกภาษาอังกฤษแก่ประชาชนทั่วไปให้ง่ายต่อการฝึกฟัง พูด อ่าน เขียน การใช้คำศัพท์หรือประโยคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันผ่านสมาร์ทโฟนผ่านระบบปฏิบัติการ Android และ iOS แต่ในส่วนของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ยังคงสอนโดยครูตามปกติ พร้อมทั้งมีการสนับสนุนส่งเสริมผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และมีการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) 350 คน โดยวิทยากรจากต่างประเทศ 30 คน และจะขยายผลต่อเนื่องให้มีการพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษจำนวน 3,000 คนภายในปี 2559 ด้วย


แถลงข่าวความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค อย่าเชื่อข่าวลือ...การขับเคลื่อนการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาค

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานในระดับภูมิภาคหลายส่วน อาทิ

– จัดทำหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการและวาระการดำรงตำแหน่งของ กศจ.
– จัดทำคู่มือการบริหารงานบุคคลในศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เร่งดำเนินการจัดทำ เพื่อกำหนดเป็นแนวปฏิบัติต่อไปในทุกระดับ
– จัดทำตัวชี้วัด (KPI) เพื่อประเมินการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารโรงเรียนในระดับเล็ก-กลาง-ใหญ่-ใหญ่มาก ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยต่อไปด้วย
การออกคำสั่งให้ อ.ก.ค.ศ.หน่วยงานอื่นๆ ทำหน้าที่เช่นเดิมทุกประการ ยกเว้น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ยุบไปเท่านั้น
– ประชุมหารือกับสำนักงาน ก.พ. และ ก.พ.ร. เพื่อเกลี่ยอัตรากำลังในระดับภาคและจังหวัด จากนั้นจะออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดด้วย
– การบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ  หากเป็นการย้ายในสังกัด สพป. ให้เป็นไปตามเดิมคือ สพป.พิจารณาย้ายภายในจังหวัด ส่วนสังกัด สพม. หากย้ายภายในจังหวัดให้ กศจ.พิจารณาอนุมัติ แต่หากย้ายข้ามเขตจังหวัด ให้ สพม. พิจารณาคัดเลือกรายชื่อ แล้วเสนอขึ้นมาให้ส่วนกลางอนุมัติ
– การสอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย หลักเกณฑ์การสอบต่างๆ ที่ได้ประกาศไปแล้ว ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมในการสอบทุกประการ จึงย้ำว่าผู้เข้าสอบไม่ต้องกังวล
– การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งนี้ อาจจะดูเหมือนทำให้สายการบังคับบัญชายาวขึ้น แต่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารงาน ซึ่งหลักการสำคัญของกฎหมายใดๆ ที่ออกมาใหม่ คือ จะไม่ให้คนเดิมเสียสิทธิ์


แถลงข่าวความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารราชการ ของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค อย่าเชื่อข่าวลือ...ฝากสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวฝากให้สื่อมวลชนช่วยเป็นแรงสนับสนุนในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินงานในเรื่องนี้ให้ประชาชนและสังคมได้รับรู้ โดยเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจหรือหลงเชื่อข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจากคนบางกลุ่ม ซึ่งตนพร้อมยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอและข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา แต่หากเป็นข้อมูลที่ไม่สร้างสรรค์หรือมีเจตนาสร้างความเคลื่อนไหวใดๆ ขอเตือนว่าอย่าได้ทำ แต่ขอให้มาช่วยกันทำงาน ช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการบริหารงานบุคคลและขับเคลื่อนการทำงานในการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค จำนวน 2 ช่องทาง ได้แก่เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ และสายด่วน 1579 ตลอด 24 ชั่วโมง

อนึ่ง ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายนนี้ เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมกระทรวงมหาดไทย,
รมว.ศึกษาธิการ และ รมว.มหาดไทย จะประชุมทางไกล (VDO Conference) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button