ครม.เห็นชอบ (ร่าง) กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษาและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 18 เมษายน 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ เห็นชอบ (ร่าง) กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง
นายกมล รอดคล้าย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ที่มีการปรับปรุงกรอบคุณวุฒิจาก 9 ระดับ เป็น 8 ระดับ และปรับปรุงรายละเอียดองค์ประกอบระดับคุณวุฒิให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework: AQRF) รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างระบบงานที่เกี่ยวข้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และเกณฑ์การเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความเป็นสากล และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้สามารถนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบและรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ศธ. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดทำแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และให้นำเสนอแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปด้วย โดยในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติให้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. จัดทำแผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และประเด็นการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วย
2. พิจารณากำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
3. วางแผนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศโดยมุ่งเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยให้มีศักยภาพเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ การก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 และให้ ศธ. ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
สาระสำคัญของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
1. กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงระบบคุณวุฒิของประเทศทุกระดับและประเภท ให้ยึดโยงกับระดับความสามรถของบุคคล ที่เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ การศึกษา การฝึกอบรม และประสบการณ์ จากกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานทางการศึกษา และกรอบมาตรฐานอาชีพ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านมาตรฐานอาชีพ/ฝีมือแรงงาน/วิชาชีพ และองค์กรต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้กลไกของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในการเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดระบบการพัฒนากำลังคนระดับชาติที่เป็นเอกภาพ
2. วัตถุประสงค์ของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
1) เพื่อเป็นกลไกการปฏิรูปการศึกษา ด้วยการเชื่อมโยงความต้องการกำลังคนเชิงคุณภาพของภาคการผลิตและบริการกับระบบคุณวุฒิทางการศึกษาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอาชีพ โดยใช้ระบบการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และเทียบเคียงได้กับนานาชาติ
2) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเพิ่มโอกาสการศึกษาที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิต่างประเทศ อันจะเป็นกลไกสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านกำลังคนของประเทศ เสริมสร้างความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายกำลังคนและนักเรียนนักศึกษาในภูมิภาค
4) เพื่อยกระดับคุณค่าของผู้มีความสามารถหรือสมรรถนะ ในการปฏิบัติงานที่ต้องการเพิ่มพูนคุณวุฒิการศึกษาด้วยระบบการเทียบโอนประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่ก่อน รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางการเรียนรู้และความก้าวหน้าในอาชีพที่หลากหลายของบุคคล
3. โครงสร้างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ประกอบด้วย
1) ระดับคุณวุฒิ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้กำหนดระดับความสามารถหรือความสามารถในการปฏิบัติงานตามขอบเขตความรู้ ทักษะ และความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะและความรับผิดชอบ ซึ่งเชื่อมโยงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีข้อกำหนดขอบเขตที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับง่ายไปยาก จากระดับ 1-8 โดยมีลักษณะเป็นแกนกลางที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับกำลังคนในแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพ/วิชาชีพ
2) ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ความรู้ (Knowledge) ครอบคลุมในเรื่องความรู้เชิงวิชาการ แนวคิด ทฤษฎี ข้อเท็จจริงต่าง ๆ (2) ทักษะ (Skills) ครอบคลุมทักษะด้านการคิดอย่างมีเหตุผล การหยั่งรู้ การคิดสร้างสรรค์ และการปฏิบัติ และ (3) ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และความรับผิดชอบ (Application and Responsibility) ผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านนี้ มีความแตกต่างกันไปในแต่ระดับ ทั้งในด้านความซับซ้อนและความลึกของความรู้ความเข้าใจ ด้านวิชาการและทักษะความสามารถที่ควรมีในแต่ละระดับการศึกษา
3) กลไกการเชื่อมโยงเติมเต็ม/เทียบเคียง (Connecting, Filling-up/Benchmarking Mechanism) การเชื่อมโยงและเทียบเคียงเข้าสู่กรอบคุณวุฒิแห่งชาติทั้งในส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาและผู้ที่ได้รับรองมาตรฐานอาชีพต้องมีกลไก/ระบบการเข้าสู่ระดับคุณวุฒิที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา เพื่อให้บุคคลที่มีคุณวุฒิทางการศึกษาหรือมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์หรือสมรรถนะจากการปฏิบัติงานสามารถเทียบโอนหรือเติมเต็มอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้ได้รับการรับรองและยกระดับคุณวุฒิตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
18/4/2560
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
URL Copied