ข่าวการศึกษา

ศธ.จัดประชุมแถลง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579” ต่อสาธารณชน

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมแถลงเรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2560 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเผยแพร่แผนการศึกษาแห่งชาติต่อสาธารณชน โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด และปาฐกถาพิเศษเรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กับการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าการจัดการศึกษา

ศธ.จัดประชุมแถลง "แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579" ต่อสาธารณชน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งเกี่ยวกับการแถลง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามที่จะขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การผลิตและพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมให้เด็กมีความสุขในการเรียน เช่น การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2560 ที่ได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติเสร็จสมบูรณ์และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเป็นอีกปีที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา โดยนำแผนการศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นแผนเชิงยุทธศาสตร์ไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อเป็นแนวทางในการเดินหน้าจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัย ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา และวัยทำงาน โดยจะทำงานแบบบูรณาการทั้งภายในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น

การแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการที่จะมีแผนงานด้านการศึกษาที่มั่นคงชัดเจน และผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว เพื่อร่วมกันก้าวไปข้างหน้า (To Step Forward) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศได้สำเร็จ ซึ่งทุกคน ณ ที่นี้มีความสำคัญในการพลิกประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อพัฒนากำลังคน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต จึงขอฝากให้ช่วยกันเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อความมุ่งหวังให้การปฏิรูปการศึกษา ส่งผลสัมฤทธิ์ตอบโจทย์การเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมทั้งขอขอบคุณผู้บริหาร คณะกรรมการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในการร่วมจัดงานแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติในครั้งนี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กับการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นหัวใจสำคัญเสมือน “ไบเบิ้ล” ในการทำงานร่วมกัน

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการศึกษา ตลอดจนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานวิจัยของประเทศ ซึ่งการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจภาพของการสร้างคน พัฒนาคน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนในอนาคต ทั้งในสาขาวิชาชีพ สาขาวิชาการ และในสายงานต่าง ๆ ในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการวางแผนงานและกำหนดทิศทาง รวมทั้งเป้าหมายการทำงานที่มีความชัดเจน ดังนั้น แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จึงเป็นเสมือน “ไบเบิ้ล” เป็นกรอบการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ที่ทุกภาคส่วนจะได้ใช้ในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างเทคโนโลยีที่จะสามารถใช้ประโยชน์ให้ตรงความต้องการของประเทศชาติ และบรรลุเป้าหมายตามที่เราคาดหวังไว้

● ปรับแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องและรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

หากจะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือว่ามีจุดเน้นครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน การสร้างศักยภาพของคน การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาค เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนการคำนึงถึงความสมดุลในระบบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องและรองรับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แล้ว รวมทั้งการผลักดันประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ Thailand 4.0 ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้รองรับกระแสเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอีก 10-15 ปีข้างหน้าด้วย

เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่ทุกคนจะได้ร่วมมือร่วมใจกัน โดยมองจุดเน้นเดียวกันคือ ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยเสริมทั้งในเรื่องของครู ผู้บริหาร หลักสูตร สถานศึกษา การบริหารราชการ และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเด็กได้เต็มตามศักยภาพแต่ละช่วงวัยอย่างละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่ในครรภ์มารดาคือก่อนปฐมวัย จนกระทั่งระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา หรือการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสและผู้พลาดโอกาส การศึกษาสำหรับคนวัยทำงานก่อนจะมีอายุครบ 65 ปี และหลังวัยเกษียณอายุราชการหรือทำงาน

● เน้นจัดการศึกษาครอบคลุมทุกช่วงวัยตามรัฐธรรมนูญ

การดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ เรียกได้ว่าเราจะต้องมองอย่างรอบด้าน เพื่อจัดการศึกษาให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตลอดทุกช่วงวัย ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดให้มีการศึกษาในภาคบังคับ 12 ปีโดยเริ่มตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัยคือ 3 ขวบเป็นต้นไป” ถือเป็นการดำเนินงานที่มีความละเอียดและมีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ระยะที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา เพื่อดูแลด้านสุขภาพ สุขภาวะ และอนามัย, กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องของการสร้างสุขภาพที่ดี สุขภาวะที่เหมาะสมต่อพัฒนาการ และเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจในระดับก่อนปฐมวัย เน้นสร้างวินัยและเรียนรู้ที่มาที่ไปของชาติในลักษณะการเรียนการสอนแบบธรรมชาติ เพื่อส่งต่อเด็กเข้าสู่ระดับปฐมวัย

ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดูแลจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งในระดับประถมศึกษาจะเน้นเนื้อหาทางด้านวิชาการที่มีความเข้มข้นและมีกิจกรรมการเรียนรู้สร้างเสริมทักษะมากขึ้น เช่น กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นต้น เพราะการที่เด็กจะมีทักษะมากขึ้นนั้น ต้องมีกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กได้เริ่มรู้จักการแสดงออกทางความคิด ความสามารถ และความต้องการเรียนรู้ของตัวเอง

จนเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เด็กจะต้องเริ่มมีความถนัดและความสนใจที่แตกต่างกันออกไป ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเลือกเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราจะช่วยกันชี้แนะให้เด็กเลือกเรียนต่อในสายสามัญหรือสายวิชาชีพตามความถนัดของตนเอง โดยเฉพาะสายวิชาชีพที่จะต้องคำนึงถึงความสนใจของเด็กและความเหมาะสมที่จะเข้าสู่สาขาวิชาต่าง ๆ ด้วย รวมทั้งสาขาวิชาที่ตรงตามความต้องการของประเทศและการเดินหน้าสู่ Thailand 4.0 ที่ได้กำหนดเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารแห่งอนาคต, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและการขนส่งขนส่งและการบิน, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่เราจะต้องสร้างคนรองรับงานในอนาคตให้ได้ โดยจะต้องมีการเตรียมการทั้งในเรื่องของหลักสูตร สถานศึกษา บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาในแต่ละสาขาวิชา

ดังนั้น บุคลากรและคนในวงการศึกษา จะต้องมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง มีความรู้และเข้าใจถึงเป้าหมายและความต้องการกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญคือมีความเข้าใจในตัวเด็ก เพื่อชี้ทางสว่างให้เด็กเดินไปสู่เส้นทางนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จัดโดยภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุตามแผนการศึกษาชาติในการสร้างกำลังคนให้กับประเทศตั้งแต่บัดนี้จนถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า

● 6 ยุทธศาสตร์หลักในการทำงาน

ยุทธศาสตร์หลักทั้ง 6 ด้านที่จะใช้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของชาติ ได้กำหนดเป้าหมายความต้องการพื้นฐานไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในแต่ละระดับ เช่น ในเด็กเล็กเน้นการอ่านและเขียนได้ การคำนวณ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ของครู ที่จะต้องถ่ายทอดและบ่มเพาะให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อสั่งสมให้เด็กมีพื้นฐานทางวิชาการ มีสมรรถนะ และความสามารถเพียงพอเหมาะสมตามเป้าหมายพื้นฐานตามที่กำหนด พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างเสริมให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาขาวิชาเฉพาะด้าน เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยใหม่ ๆ เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ เพื่อการต่อยอดในวิชาชีพที่สนใจ ตลอดจนถึงการเกิดนวัตกรรมเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม

● ผสานความร่วมมือ-เน้นฝึกปฏิบัติงานเพื่อสร้างกลุ่มนำขับเคลื่อนประเทศ

ในการดำเนินงานที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น เชื่อว่าชาวกระทรวงศึกษาธิการทราบดีและมีประสบการณ์ด้านการศึกษาอย่างหลากหลายอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลักทั้ง 6 ด้าน สิ่งสำคัญคือต้องมีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นทั้งภายในกระทรวงศึกษาธิการและเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านเสริมทักษะ สมรรถนะ และความเชี่ยวชาญของกำลังคนวัยทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการประสานการทำงานร่วมกันมากขึ้นแล้ว จะต้องมีการฝึกปฏิบัติงาน (On the job training) มากขึ้นด้วย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างคนรองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในอนาคต จนสามารถก้าวขึ้นเป็นกลุ่มนำของประเทศ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้

ขอชื่นชมการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยสานต่องานตามแผนการศึกษาแห่งชาติให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าในระหว่างการทำงานย่อมพบอุปสรรค ทำให้หนทางไปสู่เป้าหมายไม่สวยหรูดังที่คาดหวังไว้ อาทิ ความพร้อมของสถานศึกษา ความถนัดและทักษะของครูในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ตลอดจนถึงอาคารสถานที่และทรัพยากรต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขได้โดยงบประมาณหรือการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการเอง การเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเข้ามาร่วมมีส่วนร่วม ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงกับระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ว่าจะแก้ไขด้วยวิธีการใดก็ขอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการทำงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ขอขอบคุณ.

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button