ข่าวการศึกษา

ต้องปรับปรุงเรียนอังกฤษทั้งระบบ

คำแนะนำนายกฯเชื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำสังคม/ฝึกเด็กทำข้อสอบอัตนัยทุกวัน

นายกฯ ฝาก ศธ.เร่งสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนเรื่องการปฏิรูปการศึกษา พร้อมย้ำจะต้องปรับการเรียนภาษาอังกฤษทั้งระบบ เชื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำเด็กเมือง ชนบท พร้อมแนะให้เด็กหัดทำข้อสอบอัตนัยทุกวัน “ปลัด ศธ.” เตรียมทำสรุปข้อสั่งการส่งให้องค์กรหลักดำเนินการต่อไป

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 5/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ในที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอเกี่ยวกับเรื่องการขับเคลื่อนด้านการศึกษาใน 3 ส่วน คือ 1.การจัดการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติ 2.การจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 3.การอุดหนุนโรงเรียนเอกชน ซึ่งนายกฯ ก็ได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความเข้าใจในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ว่าจะต้องทำให้ทั่วถึงในทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงว่าประเทศกำลังอยู่ในสภาวะใด และรัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างไร โดยจะต้องมีการกำหนดบทบาท หน้าที่ให้ชัดเจน ว่าการปฏิรูปการศึกษาเป้าหมายหลักคืออะไร บทบาท หน้าที่ของรัฐบาล ประชารัฐ สังคม ชุมชน คืออะไร อีกทั้งต้องนำระบบบ้าน วัด โรงเรียน หรือบวร กลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาด้วย และเมื่อแบ่งบทบาท หน้าที่อย่างชัดเจนแล้ว ก็ต้องกำหนดออกมาในรูปแบบของตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) โดยแยกเป็นเป้าหมายในระยะ 1 ปี 4 เดือน และเป้าหมายในระยะ 3 ปี 8 เดือน ซึ่งในส่วนของการสร้างความเข้าใจนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นผู้ดำเนินการ

นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ฝากถึงเรื่องครู ว่าการพัฒนาครูจะต้องมีการดำเนินการอยู่ตลอดเวลา และการพัฒนาจะต้องเน้นให้ครูสามารถสอนในรูปแบบสร้างความสนใจให้แก่เด็ก ทำให้เด็กมีความอยากเรียน รวมถึงต้องสอนให้เด็กรู้จักการคิดวิเคราะห์ และสามารถใช้ดิจิตอลและเทคโนโลยีได้ ครูและนักเรียนต้องมีการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งได้แนะนำให้โรงเรียนนำชุมชนมาเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ จะต้องมีการเชื่อมโยงสภาพจริงในชุมชน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น ปัญหาขยะ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอน นายกฯ ได้ให้กลับมาทบทวน ว่าหลักสูตรในปัจจุบันตอบโจทย์การเรียนรู้ 3 แบบ คือ เรียนเพื่อให้มีความรู้ เรียนเพื่อพัฒนาสังคม เรียนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ แล้วหรือไม่ อีกทั้งการเรียนในวิชาภาษาไทยก็จะต้องเน้นให้เด็กอ่านออก เขียนได้ รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษก็จะต้องปรับการเรียนการสอนทั้งระบบ เพราะถ้าเราทำให้เด็กทั่วประเทศมีความสามารถภาษาอังกฤษ ก็จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมาก ซึ่งการพัฒนาครูภาษาอังกฤษที่ ศธ.ทำอยู่นั้นก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว

3.สำหรับเรื่องการออกข้อสอบอัตนัยที่ขณะนี้นำมาใช้ในการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นั้น พล.อ.ประยุทธ์เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องดี แต่ไม่อยากให้รอโอเน็ตอย่างเดียว แต่ขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง โดยให้เด็กได้ฝึกการทำข้อสอบอัตนัยทุกวันหรือทุกสัปดาห์ เช่น เรียนจบบทก็ให้ทดสอบอัตนัย เพื่อจะให้เด็กได้รู้จักการคิดวิเคราะห์

“ในส่วนของอาชีวศึกษา พล.อ.ประยุทธ์ก็ย้ำว่าจะต้องสนับสนุนให้เด็กมาเรียนในสายอาชีพมากขึ้น เปลี่ยนโรงงานให้เป็นโรงเรียน และน่าจะขยายโครงการ Education to Empolyment Vocational Boot Camp หรือโครงการฝึกอบรมระยะสั้นฐานสมรรถนะ ระยะเวลา 2 เดือนในช่วงปิดภาคเรียน ให้กับเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือส่งเด็กไปฝึกงานที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ต่างๆ เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักท้องถิ่นและสัมผัสอาชีพได้หลายช่องทาง อย่างไรก็ตาม ผมจะสรุปข้อสั่งการต่างๆ พร้อมทั้งส่งให้องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป” ปลัด ศธ.กล่าว.

ที่มา : ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button