ข่าวการศึกษา

ผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ (สายงานการสอน)

สถานี ก.ค.ศ.: ผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ (สายงานการสอน)

พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน หากท่านได้ติดตามอ่านบทความในคอลัมน์สถานี ก.ค.ศ. มาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้นำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 20-31 พฤษภาคม 2560 ทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. วันที่ 22-24 พฤษภาคม 2560 รับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 รับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำนวน 121 คน วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงาน กศน. และกรรมการใน กศจ. ทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 113 คน ณ โรงแรมตรัง กรุงเทพมหานคร
โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ค.ศ. และขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้สรุปผลการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว จึงนำมาบอกกล่าวให้ได้ทราบ โดยผลสรุปเป็นดังนี้
1.ผู้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. มีจำนวนทั้งหมด 9,285 คน (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 16.30 น.) โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25-34 ปี เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด ผู้ที่เข้ามาให้ความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน
          2.ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินวิทยฐานะอยู่บ้าง
          3.การกำหนดจำนวนชั่วโมงในการปฏิบัติการสอน (800 ชั่วโมง/ปี) ส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีความยืดหยุ่นไปตามความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอน เช่น สอนหลายชั้นเรียน สอนหลายระดับ สอนในโรงเรียนที่มีความพร้อมหรือไม่พร้อมด้านบุคลากร รองลงมา เห็นว่าควรมีความยืดหยุ่นตามประเภทของการจัดการเรียนการสอน เช่น ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษาพิเศษ การศึกษาปฐมวัย การศึกษานอกระบบฯ และการอาชีวศึกษา
          4.ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นว่าหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ มีข้อดีในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบันทึกข้อมูล สามารถเก็บข้อมูลได้ดี เป็นระบบ ลดการเตรียมเอกสาร ลดภาระค่าใช้จ่าย กระตุ้นให้ครูได้มีการพัฒนาตนเอง ครูได้อยู่กับนักเรียน เพิ่มคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน ผลการปฏิบัติงานสะท้อนถึงคุณภาพของวิทยฐานะ
ยังมีรายละเอียดของการแสดงความคิดเห็นอีกจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้รวบรวมความคิดเห็นดังกล่าว นำเสนอ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญฯ และ ก.ค.ศ. พิจารณาในเดือนมิถุนายน 2560 ก่อนประกาศใช้หลักเกณฑ์ ต่อไป

ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button