ข่าวการศึกษา

สมศ.ก้าวไกลภายใต้วิสัยทัศน์ 7 ข้อ ของผอ.หญิงคนแรก

ที่เฟซบุ๊คของ สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) ได้เผยแพร่ข่าว(บทความ) เรื่อง สมศ.ก้าวไกลภายใต้วิสัยทัศน์ ผอ.หญิงคนแรก  ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอก ดังนี้

สมศ.ก้าวไกลภายใต้วิสัยทัศน์ ผอ.หญิงคนแรก 
การประเมินคุณภาพภายนอกทั้ง ๓ รอบเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดย สมศ.พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นลำดับเข้าสู่ยุคสมัยที่มีผู้นำคนใหม่คือ รศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ผู้อำนวยการหญิงคนแรกของ สมศ.ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประสบการณ์การทำงานอย่างมืออาชีพ รวมทั้งเกียรติประวัติที่โดดเด่นจากการที่เคยได้รับทุนและรางวัลรวมทั้งการประกาศเกียรติคุณจากหลายสถาบันการศึกษาชั้นนำ ยืนยันในคุณสมบัติของท่านที่พร้อมจะสานต่อการพัฒนางานของ สมศ.ให้ก้าวไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมาย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ รศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ได้นำเสนอนโยบายการบริหารงานโดยยึดแนวนโยบายของรัฐบาลในด้านการปฏิรูปการศึกษาของชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมสู่ Thailand 4.0 เป็นสำคัญ กอรปด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ บูรณาการหลักยุทธวิธีที่เหมาะสมกับการศึกษาไทยยุค 4.0 (Education 4.0) เพื่อการพัฒนามาตรฐานการศึกษาชาติไทยให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ ๗ ประการ ได้แก่

1) เรียบง่ายด้วยใจ (Simple) ใช้เกณฑ์การประเมินที่เข้าใจง่าย ร่วมกันประเมินด้วยใจ ที่ซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

2) พอเพียงกับความต้องการ (Sufficiency) : ประเมินสิ่งที่จำเป็น ตรงกับความต้องการ ไม่เพิ่มภาระงาน ตอบโจทย์ความต้องการของชาติ 

3) ลดภาระงานด้วยเทคโนโลยี (Flip to Technology) พัฒนาและประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้แบบที่ง่ายในการประเมิน สะดวกผู้ใช้ กลมกลืนไปกับชีวิตงานประจำวัน 

4) ยืดหยุ่นทุกคน (Flexibility) รับฟังความคิดเห็น เน้นความสอดคล้อง ไม่เพิ่มเกณฑ์ใหม่ ประเมินตามความพร้อมและมาตรฐานที่สถานศึกษากำหนด 

5) เชื่อมโยงทุกอย่าง (Connectivity) ทั้งบุคคล หน่วยงาน และทรัพยากรทางการศึกษา ให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อการประเมินที่มีประสิทธิภาพ 

6) ร่วมมือสู่มาตรฐานการศึกษา (Collaboration) ทั้งระดับบุคคล หน่วยงานภายใน องค์กรภายนอก เพื่อพัฒนาต่อยอดความสำเร็จสู่มาตรฐานการศึกษาของชาติ และ 

7) เป็นสุขและยั่งยืน (Sustainable Happiness) ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องรู้สึกดี มีความสุข และใช้ระบบประเมินเป็นกลไกพัฒนามาตรฐานสถานศึกษาให้ยั่งยืน 

แนวทางนี้จะช่วยขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ให้เป็นที่ยอมรับในทุกระดับ โดยยึดความสอดคล้องกับการประเมินคุณภาพภายในเป็นหนึ่งเดียว เน้นความร่วมมือในการทำงานของบุคลากรภายในองค์กร สถานศึกษา และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อยอดผลประเมินในเชิงบวกจากสิ่งที่สถานศึกษามีอยู่แล้วให้เกิดความสำเร็จ มีความก้าวหน้า โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และช่วยทำให้ผลการประเมินมีความแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทุกฝ่ายสามารถใช้ระบบการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นกลไกการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษานำไปสู่เป้าหมายของการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด เกิดคุณลักษณะที่เหมาะสมตามจุดเน้นของแต่ละระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับขั้นพื้นฐาน คือ การอ่านออก เขียนได้ และรักการเรียน ด้านการอาชีวศึกษา คือ การปฏิบัติ (Hands-on) และระดับอุดมศึกษา เน้นการคิดวิจารณญาณ และการคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของการประเมินคุณภาพภายนอกอยู่ที่มาตรฐานการศึกษาระดับชาติ และความสอดคล้องกับเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวในที่สุด

ที่มาของภาพและเนื้อหา : สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา)

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button