ข่าวการศึกษา

เด็กไทยมีเฮ เตรียมรับของขวัญปีใหม่จาก ศธ.”Hi-Speed Internet” ทั้งเร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย

ข่าวที่ 652/2560
เด็กไทยมีเฮ เตรียมรับของขวัญปีใหม่จาก ศธ.”Hi-Speed Internet” ทั้งเร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย หวังสร้างโอกาสเด็กได้เรียนรู้สื่อดี-ลดช่องว่าง กศ.-ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลักและ ศธ. พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเริ่มต้นปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้ Hi-speed Internet ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART, TELECOM, AIS, 3BB) พร้อมจะยกเลิก MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service provider) แต่เป็นผู้ซื้อสัญญาณจากเอกชนส่งไปยังสถานศึกษาต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่เต็มศักยภาพด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ จึงต้องการมาพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้บริหารและครูในพื้นที่เอง มาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของโรงเรียนและสถานศึกษา หลังจากที่ไปดูโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์เป็นจุดแรก และถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างขนาดเล็กที่ดี ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญและมีข้อมูลในการบริหารงาน รู้สภาพปัญหาอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนอย่างแท้จริง พร้อมหาแนวทางแก้ไข และเลือกสิ่งที่ดีทีสุดต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน

 

ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ ปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการ “Hi speed Inernet” ด้วยการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างถูกต้องก่อน คือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด มีอำนาจตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและโรงเรียน และช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเติมเต็มความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น, การจัดหาอุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ เช่น Router Access point เพื่อแปลงสัญญาณให้มีความแรงและเร็วมากขึ้น ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างทันท่วงที โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้กำกับช่วยเหลือ พร้อมกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งของการทำงาน ที่จะต้องรู้ข้อมูลด้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตนเอง, โรงเรียนใช้บริการอะไรอยู่บ้าง,โรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง เป็นต้น

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งวางรากฐานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเสนอโครงการขยายรากฐานเครือข่าย UNINet ไปยังโรงเรียนอีก 20,000 แห่ง งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากที่ UNINet ได้วางรากฐานไปยังโรงเรียน สพฐ. กว่า 10,000 แห่ง และในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 426 แห่งแล้ว เพื่อให้เป็น High way internet ที่มีความเร็วและแรงเพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยทุกคน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีทันสมัย องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในชีวิต ให้ไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง สำหรับประชาชน ศธ. มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ UNINet เพื่อร่วมใช้หนังสือและสื่อ e-Book ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น Smart farmer, การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

และขอยืนยันว่า การยกเลิก MOENet ไม่เพียงจะช่วยประหยัดงบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ศธ. บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการประหยัดงบประมาณไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เมื่อเทียบกับโอกาสที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ ที่คาดว่าจะมีค่ามากกว่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานในสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ทั้ง 452 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 328 แห่ง สถานศึกษา สอศ. 16 แห่ง และหน่วยงาน สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. 108 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ตจากทั้งของภาครัฐ (UNINET, MOENET) ดาวเทียม ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น TOT Triple CAT 3BB เป็นต้น โดยปัญหา/อุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย, บุคลากรขาดความรู้ความชำนาญในการบริหารงานเครือข่าย และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกเช่าสัญญาณจากผู้ให้บริการ (ISP) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ให้บริการ,ขาดช่องทางการสื่อสารกับผู้รับผิดชอบในการดูและรักษาระบบ, เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งาน เป็นต้น

นวรัตน์ รามสูต: สรุป
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: รายงาน
บัลลังก์ โรหิตเสถียรกราฟิก
21/12/2560

ที่มาของข่าว : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button