ข่าวการศึกษา

โฆษก ศธ.ชี้แจงยุบโรงเรียนขนาดเล็กไม่ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา

(18 ม.ค.61)นายพะโยม ชิณวงศ์ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการชี้แจงเกี่ยวกับกรณีกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้ายุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาโดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลมีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด ดังนี้

  1. เรื่องการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีคุณภาพไม่เหมือนกันจากข้อมูลพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองจะมีคุณภาพสูง ส่วนโรงเรียนตามชนบทในพื้นที่ห่างไกลยังด้อยคุณภาพอยู่ ขณะนี้โรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีทั้งหมดมากกว่า 30,000 โรงเรียน ในจำนวนนี้ประมาณ15,000 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า120 คน และอีกกว่าพันแห่งมีนักเรียนจำนวนต่ำกว่า 40 คนจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสให้เขามี ครูประจำชั้น มีครูครบทุกสาขาวิชา มีจำนวนเด็กพอที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การแข่งกีฬากิจกรรมลูกเสือเป็นต้น ถือเป็นเรื่องสำคัญในด้านโอกาสทางการศึกษาซึ่ง ศธ.จะต้องทำให้เด็กทุกพื้นที่มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพ
  2. เรื่องคุณภาพการศึกษา ศธ.ต้องทำให้โรงเรียนในทุกพื้นที่มีคุณภาพ เพื่อไม่ให้เด็กไหลเข้ามาสู่ในเมือง ซึ่งในพื้นที่ชนบทมีโรงเรียนมากมายแต่มีจำนวนนักเรียนน้อย ที่ผ่านมาจึงมีโครงการเกิดขึ้นหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงเรียนประชารัฐโรงเรียนดีใกล้บ้านโรงเรียนICU ที่เข้ารับการพัฒนา เป็นต้น เพื่อที่จะยกระดับให้เป็นโรงเรียนดีใกล้บ้านให้ได้

ทั้งนี้จะมีโรงเรียนบางพื้นที่ไม่สามารถควบรวมหรือไปบริหารจัดการร่วมกันได้เช่นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนตามพื้นที่สูง โรงเรียนในหุบเขาตะเข็บชายแดนในเกาะแก่ง โรงเรียนที่มีพื้นที่ไกลจากเด็กเกิน 6 กิโลเมตร ซึ่งมีความลำบากในการเดินทาง จำนวนประมาณ 3,000 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีเด็กน้อยขนาดไหนก็ต้องอยู่ได้ โดยศธ.จะเพิ่มคุณภาพเข้าไป อาทิ เส้นทางเข้าสู่โรงเรียน เครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดการครูการสร้างขวัญกำลังใจครูในพื้นที่ห่างไกลตามประกาศของกระทรวงการคลังการคลัง เป็นต้น

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

  1. เรื่องประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ สาเหตุที่ต้องใช้งบประมาณสูงเนื่องจากมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากและตั้งอยู่กระจัดกระจาย โดยสมัยก่อนจะเห็นได้ว่าพื้นที่หมู่บ้านอยู่กระจายกันไปแล้วก็มีโรงเรียนประจำแต่ละหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น ผู้คนย้ายถิ่นฐาน เด็กในชุมชนลดลง ส่งผลให้โรงเรียนเหลือเด็กเพียง10-20 คน อย่างไรก็ตามเมื่อมีการรวมหมู่บ้านกลายเป็นชุมชนใหญ่แล้วรัฐบาลก็เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการดีขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นบางโรงเรียนมีระยะทางห่างกัน 3 กิโลเมตร แต่อยู่คนละฝั่งถนนซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในการที่เด็กจะข้ามถนนไปมา ซึ่งเราก็ต้องคำนึงถึงโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมแบบนี้ด้วย ดังนั้นการที่เราจะเดินหน้าควบรวมบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมันต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยด้วยกัน ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการส่งทีมไปตรวจราชการที่จังหวัดสตูล ไปดูโรงเรียนที่ตั้งอยู่ตามเกาะแก่งทั้งหลายว่ามีความพร้อมด้านไฟฟ้าอินเตอร์เน็ตสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนความยากลำบากในการเดินทางหรือไม่ โดยทางศธ.จะหาแนวทางเพิ่มเติมให้ในส่วนนี้

ในส่วนของความกังวลว่าโรงเรียนที่ยุบไปแล้วจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษานั้น ขอชี้แจงว่าโรงเรียนลักษณะดังกล่าวได้ยกเลิกการเรียนการสอนและไม่มีเด็กนักเรียนแล้ว ตลอดจนไม่ใช่ลักษณะของการยุบโรงเรียนไปเลยแต่ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานท้องถิ่นสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เช่น จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของกศน. ศูนย์อินเตอร์เน็ตชุมชนศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์พัฒนาผู้สูงอายุเพื่อรองรับ สังคมผู้สูงวัยในอนาคตเป็นต้น

อย่างไรก็ตามก่อนจะมีการยกเลิกการเรียนการสอนต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจของคณะกรรมการสถานศึกษาและทำการรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองก่อน ซึ่งหากมีผู้คัดค้านแม้แต่คนเดียวก็ไม่สามารถ ยกเลิกการเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนได้

“จากการที่ได้ไปสัมผัสกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจริงๆพบว่าเด็กมีความรู้สึกดีใจที่ได้ไปอยู่กับเพื่อนจำนวนมากมีนักเรียน มีครูครบทุกชั้น ได้รู้จักเพื่อนใหม่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีมีการทำกิจกรรมต่างๆ เด็กก็มีความสุข อย่างไรก็ตามโรงเรียนในประเทศไทยขณะนี้มีจำนวนมาก แต่ประชากรวัยเรียนกลับลงลดลง จึงทำให้ยิ่งกระจายความไม่พร้อมมายิ่งขึ้น คำถามคือทำอย่างไรถึงจะให้ทุกพื้นที่นั้นมีโรงเรียนที่มีความพร้อมในทุกชุมชนและโรงเรียนนั้นยกระดับขึ้นมาเป็นโรงเรียนคุณภาพ ศธจ.ต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย โดยทำหน้าที่ช่วยประเมิน ดูแลความพร้อมที่จะให้เด็กอยู่ในพื้นที่ ศธ.มีความตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนคุณภาพสร้างโอกาสให้กับเด็กในทุกพื้นที่ และเพื่อให้มีความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ใช้งบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” นายพะโยมกล่าว

ที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button