ข่าวการศึกษา

สพฐ. ประกาศรายชื่อโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership Schoolและผู้สนับสนุน 40 โรงเรียน

ศธ. สพฐ. ชี้แจงรายละเอียดและประกาศรายชื่อโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School
——————————————————————–
วันที่ 30 เมษายน 2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประกาศรายชื่อโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School จำนวน 40 โรงเรียน พร้อมทั้งประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนและชี้แจงรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) โดยมี นายมีชัย วีระไวทยะ นายณรงค์ แผ้วพลสงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วมประชุมพร้อมกัน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคารสพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
.
สำหรับโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) จะเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งยังคงได้รับการสนับสนุนงบประมาณ การช่วยเหลือดูแลแก้ไขปัญหากฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานการศึกษาจากกระทรวงฯ แต่จะมีการออกแบบและยกระดับพัฒนาโรงเรียนอย่างเข้มข้น มีการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยการบริหารงานจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้มีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ผู้นำระดับท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นๆ ขณะที่การจัดการศึกษาและการบริหารจัดการนั้น ภาคเอกชนจะเป็นผู้สนับสนุนการจัดการศึกษาและร่วมกับภาคประชาสังคมในท้องถิ่นในการบริหารจัดการอีกด้วย
.
ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการ ที่มีรมช.ศึกษาธิการ (ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร) เป็นที่ปรึกษา มีประธานคณะทำงานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ เป็นประธานคณะทำงานด้านการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan), เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายบุญรักษ์ ยอดเพชร) เป็นประธานคณะทำงานด้านการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ, นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ และ รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ เป็นประธานคณะทำงานด้านการติดตามประเมินผลและวิจัย นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงาน Task Force โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล ตลอดจนหลักสูตรและงานด้านวิชาการ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และวางระบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วย
.
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า สำหรับในระยะแรก ได้เริ่มดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จำนวน 40 โรงเรียน เริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนยื่นใบสมัครได้ รวมถึงมาจากการเสนอโดยกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ให้การสนับสนุน อย่างเช่นผู้ให้การสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐ และผู้สนับสนุนอื่นๆ โดยพื้นที่เป้าหมายของโรงเรียนร่วมพัฒนาจะกระจายในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตามความเหมาะสม ส่วนระดับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต้นแบบก็จะมีโรงเรียนอนุบาล (ปฐมวัย) โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. รวมถึงสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสังกัด สอศ. และโรงเรียนหรือสถานศึกษาอื่นในกรณีที่เห็นสมควร ที่มีจำนวนผู้เรียนไม่เกิน 300 คน สำหรับโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษา และจำนวนผู้เรียนไม่เกิน 500 คน สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาและสถานศึกษาอาชีวศึกษา
.
ในส่วนของโรงเรียนนั้น ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงเรียน มีความเป็นผู้นำ ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนา นักเรียนพร้อมที่จะเป็นคนดี ขณะที่ในส่วนของชุมชน ผู้นำชุมชนจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา มีความสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วย
.
ทางด้าน นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกคือผู้อำนวยการจะต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง มีความต้องการอยากจะเปลี่ยนแปลง ต้องรับรู้รับทราบรายละเอียดของโครงการ โดยสามารถแจ้งความประสงค์มาทาง สพฐ. ทางบริษัทผู้สนับสนุน หรือทางคณะกรรมการได้ เมื่อโรงเรียนพร้อม ชุมชนพร้อม ก็สามารถสมัครร่วมโครงการได้ ซึ่งโรงเรียนจะต้องไม่อยู่โดดเดี่ยว ชุมชนจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะโรงเรียนจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ซึ่งเจ้าของคือคนไทยทุกคนทั้งหมด ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลไทย ไม่ใช่บริษัท และโรงเรียนนี้จะทำให้ผู้ปกครองหายจน เป็นแหล่งกู้ชาติสำหรับอนาคต โดยทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนด้วย เราจะช่วยให้ผู้ปกครองที่ยากจนหายจากความยากจน โดยจะมีกองทุนให้นักเรียนกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ โดยนักเรียนต้องผ่านการอบรมก่อนและให้ผู้ปกครองเป็นผู้กู้ นอกจากนั้นโครงการนี้จะช่วยให้ครูเก่งขึ้น โดยมีงบประมาณช่วยในการฝึกอบรมดูงาน และเราจะให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสอน ไม่ใช่ร่วมเรียนอย่างเดียว นักเรียนจะเป็นศูนย์กลางร่วมในการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอน และมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนด้วย เราต้องสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้กับเด็ก ไม่ใช่แค่สอนให้อ่านออกเขียนได้ โดยค่าตอบแทนที่ทุกโรงเรียนต้องทำก็คือ การปลูกต้นไม้โรงเรียนละ 5,000 ต้น จะไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนใดๆทั้งสิ้น ซึ่งในช่วงแรกนี้อาจจะยังไม่สามารถช่วยได้ทุกโรงเรียนทั้งหมด ขอให้โรงเรียนรอก่อน เราจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

รายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ จำนวน 40 โรง ได้แก่

1. โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย  สพป.นครปฐม เขต 1 (กลุ่มสยามพรีเสริฟฟู้ดส์)

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

2. โรงเรียนชุมชนบ้านสี่แยก  สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2 (มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ)

3. โรงเรียนบ้านหนองเงือก  สพป.ลำพูน เขต 1 (TRUE Connext ED)

4. โรงเรียนอนุบาลเต่างอย  สพป.สกลนคร เขต 1 (TRUE Connext ED)

5. โรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน  สฟป.เชียงราย เขต 1 CP ALL Connext ED

6. โรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร)  สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 (CP ALL Connext ED)

7. โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา (โคกศิลา)  สพป.นครราชสีมา เขต 3 (CPF Connext ED)

8. โรงเรียนชุมชนบ้านวัด  สพป.นครราชสีมา เขต 6 (CPF Connext ED)

9. โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม ราชบุรี สพม.เขต 8 (Mitrphol Connext ED)

10. โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์  สพป.ขอนแก่น เขต 5 (Mitr Phol)

11. วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น วิทยาเขตหนองเรือ ขอนแก่น (Mitr Phol Excellent Model School (EMS))

12. โรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์)  สพป.ชัยภูมิ เขต 2 (Mitr Phol Connext ED)

13. โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์  สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 (Mitr Phol Connext ED)

14. โรงเรียนวัดบางกอบัว  สพป.สมุทรปราการ เขต 1 (กลุ่ม ปตท.-PTT Connext ED)

15. โรงเรียนวัดถนนกระเพรา  สพป.ระยอง เขต 2 (กลุ่ม ปตท.-PTT Connext ED)

16. โรงเรียนบ้านประดู่เฒ่า  สพป.สุโขทัย เขต 1 (กลุ่ม ปตท.-ปตท.สผ.)

17. โรงเรียนผดุงวิทยา  สพป.พิษณุโลก เขต 3 (กลุ่ม ปตท.-ปตท.สผ.)

18. โรงเรียนบ้านบึงทับแรด  สพป.กำแพงเพชร เขต 1 (กลุ่ม ปตท.-ปตท.สผ.)

19. วิทยาลัยการอาชีพคำม่วง กาฬสินธุ์  (โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอิสาน)

20. โรงเรียนอนุบาลแคนดง  สพป.บุรีรัมย์ เขต 4 (ThaiBev)

21. โรงเรียนบ้านโคกขามโนนสมบูรณ์  สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 (ThaiBev)

22. โรงเรียนอนุบาลลืออำนาจ (ชุมชนเปือยหัวดง)  สพป.อำนาจเจริญ (ThaiBev)

23. โรงเรียนเชียงกลาง (ประชาพัฒนา) น่าน สพม. เขต 37 (ThaiBev)

24. โรงเรียนวัดกระทุ่ม (โสมประชาสรรค์)  สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 (ThaiBev)

25. โรงเรียนแก้วเสด็จพิทยาคม กาฬสินธุ์   สพม. เขต 24 (ThaiBev)

26. โรงเรียนบ้านท่าตูม  สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 (ThaiBev)

27. โรงเรียนท่าฉางวิทยาคาร สุราษฎร์ธานี  สพม.เขต 11 (ThaiBev)

28. โรงเรียนอนุบาลเกาะคา  สพป.ลำปาง (ThaiBev)

29. โรงเรียนวัดจุฬามณี (ชุณหะจันทนประชาสรรค์)  สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 (ThaiBev)

30. โรงเรียนอนุบาลปัตตานี  สพป.ปัตตานี เขต 1 (ThaiBev)

31. โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี  สพม.เขต 15 (ThaiBev)

32. โรงเรียนวัดสิงห์ ชัยนาท  สพม.เขต 5 (ThaiBev)

33. โรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว แม่แจ่ม เชียงใหม่ (ThaiBev)

34. โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี  สพป.เชียงราย เขต 3 (ThaiBev)

35. โรงเรียนบ้านแม่วะหลวง  สพป.ตาก เขต 2 (ThaiBev)

36. โรงเรียนบ้านสันป่าไร่  สพป.ตาก เขต 2 (ThaiBev)

37. โรงเรียนบ่อเกลือ น่าน  สพม.เขต 37 (ThaiBev)

38. โรงเรียนชุมชนโพนงามโพนสวาง   สพป.มหาสารคาม เขต 1 (บ้านปู)

39. โรงเรียนร่องคำหงส์ทองวิทยา  สพป.ร้อยเอ็ด เขต 2 (บ้านปู)

40. โรงเรียนโนนสะอาดพิทยา  สพป.ขอนแก่น เขต 5 (บ้านปู)

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button