ข่าวการศึกษา

ชงแก้กม.ครูหลังใช้15ปีให้ทันโลกเปลี่ยนแปลง

บอร์ด ก.ค.ศ. หารือ ปรับแก้พ.ร.บ.ครูฯ เหตุใช้งานมานานกว่า 15 ปี ควรปรับให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช. “รมว.ศธ.” เผยเบื้องต้นแก้เรื่องการบริหารงานบุคคล กระจายอำนาจให้ต้นสังกัด ส่วนเรื่องการลงโทษ ขอคณะทำงานจัดทำก่อน แย้ม เสนอ ครม.พิจารณา ภายในก.ย.นี้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มีการหารือถึงการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์กับปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมามีคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เข้ามาแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้องกับครูและบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องต่างๆ เช่น การโยกย้าย การทุจริต เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการปรับพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับคำสั่ง คสช. และพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็มีการใช้งานมานานกว่า 15 ปีด้วย ทั้งนี้ในส่วนของการปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเบื้องต้นจะเป็นเรื่องการบริหารงานบุคคล เช่น หากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องการจะอนุมัติย้ายครู หรือ ต้องการบรรจุครูในโรงเรียนต่างๆ กี่คน จะให้เป็นอำนาจของต้นสังกัดแทนที่จะนำเข้า ก.ค.ศ.เป็นผู้พิจาณาอนุมัติ เป็นต้น ถือเป็นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ
ส่วนการลงโทษทางวินัย เป็นเรื่องในรายละเอียดที่ต้องมีการพิจารณา ดังนั้นจึงขอให้คณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปจัดทำก่อน โดยต่อจากนี้ ก.ค.ศ.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยกำกับเชิงนโยบายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การปรับแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์หลังจากนั้นจะให้คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาพิจาณาอีกครั้ง ก่อนนำเข้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบภายในเดือนกันยายนนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยให้เปิดรับสมัครสอบครูผู้ช่วยทั่วไปประจำปี 2561 ในประเด็นการประกาศรายชื่อสาขาวิชาที่ขาดแคลน โดยก่อนหน้าที่ก.ค.ศ.ได้อนุมัติจำนวนสาขาขาดแคลนไปแล้ว จำนวน 42 สาขา  ซึ่งพบปัญหากรณีตกหล่นสาขาวิชาขาดแคลน 1 วิชาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นครสวรรค์   โดยที่ประชุมไม่ได้มีมติแก้ไขอะไร แต่ให้ใช้วิธีเชิงบริหารจัดการ  เพราะยังไม่ได้รับสมัคร ซึ่ง กศจ.ไหนที่ประกาศไม่ทันก็ให้ประกาศใหม่ตามจำนวนที่ขอมา และเท่าที่ทราบขณะนี้มีตกหล่นแค่เพียงจังหวัดเดียว ทั้งนี้เข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับ กศจ. อาจจะมีความเคลื่อนของข้อมูล เช่น สพฐ.รายงานจำนวนสาขาขาดแคลนมาอีกตัวเลข แต่ กศจ.ประกาศอีกตัวเลขหนึ่ง เป็นต้น

ที่มา : ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button