ข่าวการศึกษา

รัฐบาลพอใจปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

ทำเนียบรัฐบาล – พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลพอใจปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเริ่มเห็นผลหลายประเด็น อาทิ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม นโยบายลดภาระในการสอบ O-NET การเก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชา การยกระดับสถานศึกษาและสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษา และการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมชาวต่างประเทศที่เข้ามาประกอบอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษในไทย

1172558

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลจากการเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาเริ่มเห็นผล อาทิ ภายในภาคการศึกษาเดียว สามารถขยายจำนวนการให้บริการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV ได้ครบทุกโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นจำนวน 15,369 โรง คิดเป็นนักเรียนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาถึง 1,015,974 คน จากเดิมที่มีเพียง 6,628 โรง และการประเมินผลจากการสอบ NT พบว่า เด็กนักเรียนระดับชั้น ชั้น ป. 3 และ ป. 6 ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น

ในส่วนของนโยบายลดภาระในการสอบของนักเรียน เพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สนใจและพัฒนาตนเองในด้านอื่น ก็ได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม คือ ในปีการศึกษา 2558 ได้ลดจำนวนวิชาในการสอบ O-NET จากเดิม 8 กลุ่มสาระวิชา เหลือ 5 กลุ่มสาระวิชา เพื่อลดความเครียดให้นักเรียน และหวังเพิ่มศักยภาพในด้านอื่น

 

[adsense3]

 

สำหรับนโยบายล่าสุดคือ การออกพระราชกฤษฎีกาเก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาเป็นกิจการเพื่อการค้าและแสวงหากำไรเช่นธุรกิจอื่น จึงควรเสียภาษีอย่างถูกต้องและเสมอเหมือนกับธุรกิจที่แสวงหากำไรอื่นๆ  คาดว่ารัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ประมาณ 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เป็นการจัดเก็บจากกำไรจากการประกอบการ มิได้เก็บจากรายได้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ควรผลักภาระให้เด็กนักเรียนโดยการขึ้นค่าเรียน แต่ควรลดในส่วนกำไรเพื่อนำส่งเป็นรายได้เข้ารัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงยกเว้นภาษีให้แก่สถาบันการศึกษาเอกชน เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษากระแสหลักและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อหนุนเสริมในจุดที่การจัดการศึกษาโดยรัฐ ไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั่วถึง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ คาดการณ์ว่า มูลค่าการตลาดโรงเรียนกวดวิชาในปี 2558 จะสูงถึง 8,189 ล้านบาท และมีโรงเรียนกวดวิชาราว 2,000-3,000 แห่งทั่วประเทศที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย

ผลการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนอีกด้าน คือ การยกระดับสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาและสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของชาติ โดยในปีการศึกษา 2558 มีจำนวนนักเรียนสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรของสถานศึกษาระดับอาชีวะเพิ่มขึ้น คือ ระดับ ปวช. 202,410 คน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ที่มีนักศึกษาจำนวน 160,590 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.04 ส่วน ปวส. มีผู้สมัครเรียน 112,064 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีนักศึกษาจำนวน 103,301 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ดำเนินการร่วมกับสถานทูตอังกฤษเพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษเพื่อป้องกัน กลุ่มที่เคยมีประวัติการกระทำผิดหนีเข้ามาอาศัยอาชีพครูสอนภาษาแล้วอาจกระทำผิดซ้ำกับเด็กนักเรียน ปัจจุบันพบว่าครูต่างชาติในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการมีมากกว่า 15,000 คน ซึ่งยังไม่รวมครูต่างชาติที่สมัครตรงกับโรงเรียนโดยไม่ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างระบบเข้ามาดูแลต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากบอกว่าพอใจเต็มที่แล้ว ก็คงจะเป็นการพูดที่ไม่ตรงกับความจริง เพราะนายกรัฐมนตรีต้องการเห็นอัตราการเร่งของผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมที่รวดเร็วกว่านี้อีกเท่าตัว เพราะในขณะนี้ประเทศต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป และการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิรูปประเทศในมิติอื่นๆ ด้วย จึงขอให้ทุกฝ่ายทำงานเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีจะคอยติดตามงานทุกระยะ

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

[adsense620]

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button