ส.บ.ม.ท.ออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบหรือยกเลิกเขตพื้นที่การศึกษา
แถลงการณ์ สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เรื่อง คัดค้านการยุบหรือยกเลิกเขตพื้นที่การศึกษา
ตามที่นาย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเจตนาเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาบรรลุเป้าหมาย มีโครงสร้างขององค์กรที่เอื้อต่อการบริหารจัดการและการศึกษา นอกจากนั้นนาย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ยังได้มีแนวคิดในเรื่องของการให้สภาหอการค้าจังหวัดเข้ามาเป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยอ้างว่าเพื่อให้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับสถานศึกษามากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ทราบความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น นั้น สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) พิจารณาแล้ว ขอแถลงการณ์ว่าโรงเรียนและครูเป็นหน่วยงานและเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องของการจัดการศึกษาให้นักเรียนและย่อมรู้แนวทางดีว่าการจัดการศึกษาอย่างไรส่งผลที่ดีเเละเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน การจัดการศึกษาในอดีตที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการยึดอำนาจรัฐของ คสช. การจัดการศึกษาเป็นไปด้วยดี เป็นระบบ ผู้นำทางการศึกษาในระดับพื้นท่ีล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนการสอน แล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็นผู้นำการศึกษาในระดับพื้นที่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม การบริหารงานการศึกษาและการบริหารงานบุคคลระดับพื้นที่เป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วมโดยมีผู้แทนครู ผู้แทนผู้บริหารโรงเรียน ผู้แทนผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาร่วมเป็นคณะพิจารณาวางแผนและดำเนินการ โครงสร้างองค์กรไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองหรือบุคคลอื่นใดในการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องของการบริหารงานบุคคล
ต่อมาเมื่อมีรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ และผู้มีอำนาจของรัฐบาลบางรายได้มีความพยายามที่จะเข้ามาใช้อำนาจในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูในทุกจังหวัดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและวางรากฐานทางการเมืองที่จะสืบทอดอำนาจ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดด้วยกฎหมายที่เป็นระบบที่ดีและเข้มแข็ง จึงได้มีการใช้อำนาจเผด็จการมีคำสั่งให้ตัดอำนาจ ที่ดีและเหมาะสมออกไปแล้วประกาศใช้อำนาจใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบที่เรียกว่า Single Command กล่าวคือผู้มีอำนาจสูงสุดในกระทรวงศึกษาธิการสั่งการปลัดกระทรวง โดยปลัดกระทรวงสั่งการต่อไปที่ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัดสั่งการไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา ส่วนองค์คณะบุคคลในแต่ละจังหวัดที่แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ก็ล้วนแล้วแต่มาจากการพิจารณาสั่งการจากส่วนกลางทั้งสิ้น ตัดระบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมทิ้งไป ผลที่ตามมาคือการจัดการศึกษาล้มเหลว ผลการเรียนของนักเรียนตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยใช้รูปแบบเดิมที่มีศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53 และการมี กศจ.ที่มีคณะกรรมการรูปแบบเดิมประสบความล้มเหลวไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างว่าเป็นระบบที่ดี
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ส.บ.ม.ท.ได้ติดตามการทำงานเกี่ยวกับเรื่องการบริหารการศึกษาของ รมว.ศธ. มาระยะหนึ่งแล้วพบว่าแม้ว่า รมว.ศธ. จะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า “ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะมี กศจ. หรือ สำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษาหรือไม่ เพราะอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นการวิเคราะห์ปัญหาเท่านั้น ดังนั้นระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ขอให้มั่นใจว่าทุกเรื่องที่ตนปรับปรุงเพื่อมุ่งสู่คุณภาพของเด็กแน่นอน” ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติได้พบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า รมว.ศธ. น่าจะตัดสินใจตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะยังคงมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้นำการศึกษาในระดับจังหวัด และจะยังคงมี กศจ. อยู่ โดยข้อบ่งชี้ดังกล่าวประกอบด้วย
1. รมว.ศธ. ได้เสนอตั้งงบประมาณจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานศึกษาธิการภาค อีก 24 แห่งทั่วประเทศไทย โดยมีงบประมาณก่อสร้างแห่งละประมาณ 20 ล้านบาท
2. รมว.ศธ. เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปว่าจะให้สภาหอการค้าจังหวัดเป็นกรรมการ กศจ.
3. รมว .ศธ. ตอบคำถามผู้แทนองค์กรครูที่ถามว่า “ทำไมต้องให้มีศึกษาธิการจังหวัดมาเป็นผู้บริหารจัดการศึกษา ทำไมไม่ให้ สพฐ. /และ สพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการครูทั้งประเทศบริหารจัดการกันเอง” รมว.ศธ. ตอบชัดเจนว่าการศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องมีส่วนร่วมในระดับจังหวัดด้วย คำตอบดังกล่าวเห็นได้ว่าไม่ได้ปฏิเสธคำถามของผู้แทนองค์กรครู
4. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการนั้นพบว่าคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างที่ได้รับการแต่งตั้งเกือบทุกรายล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยไม่มีผู้แทนครูหรือผู้แทนผู้บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นผู้ที่รู้ปัญหาของการจัดการศึกษาที่ส่งผลเสียหายต่อนักเรียน และเป็นผู้รู้โอกาสในการจัดการศึกษาที่จะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อนักเรียน แม้แต่รายเดียว เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมและการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้เกิดความชอบธรรมในรูปแบบที่ รมว.ศธ. ต้องการ
5 ได้มีการถ่ายโอนอัตรากำลังของ สพฐ. ที่ควรจะนำไปใช้ในเรื่องการเรียนการสอนไปเป็นอัตรากำลังของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหลายร้อยคน
6. สภาการศึกษา ได้มีมติให้เพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยได้มีการวิเคราะห์แล้วพบว่าไม่เพิ่มคน ไม่เพิ่มงบประมาณ และสถานที่ตั้งมีความพร้อมแล้ว แต่ รมว.ศธ. กลับไม่ลงนามเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัด โดยอ้างว่าจะรอการปรับโครงสร้าง
7. ได้มีการสอบเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่ดำเนินการตามกระบวนการเพื่อให้มีการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา
จากข้อบ่งชี้ดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่า รมว.ศธ. มีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะยุบหน่วยงานเขตพื้นที่การศึกษา และจะยังคงให้มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละจังหวัดและยังจะให้เอกชนคือบรรดาพ่อค้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการศึกษาในแต่ละจังหวัด
ส.บ.ม.ท.พิจารณาแล้วเห็นว่าในการจัดการศึกษาที่ให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าท่ีบริหารการศึกษาและทำหน้าท่ีบริหารงานบุคคลโดยขาดการมีส่วนร่วมของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาและยังตัดอำนาจการบริหารงานบุคคลจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปเป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด ในรูปแบบที่เคยปฏิบัติมาเป็นเวลา 5 ปี นั้นสร้างความเสียหายให้กับการศึกษาอย่างมากมาย ส่งผลให้การจัดการศึกษาตกต่ำทั้งประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้กับข้าราชการครูในเรื่องท่ีเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าท่ีเป็นอย่างยิ่ง และยังสร้างความแตกแยกของบุคคลากรในวงการศึกษาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้การมีแนวคิดในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างที่ขาดการมีส่วนร่วมของครู มีแนวคิดในเรื่องการยุบเขตพื้นท่ีการศึกษา การให้ กศจ. และเอกชน เป็นผู้บริหารและกำกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละจังหวัด เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้
ส.บ.ม.ท.จึงขอเชิญชวนให้ผู้บริหารโรงเรียนและข้าราชการครูแสดงสัญลักษณ์การไม่เห็นด้วยอย่างสงบ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย โดยการพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดดำพร้อมกันทั้งประเทศ ในวันจันทร์ ที่ 28 ตุลาคม 2562 นี้ และหาก รมว.ศธ. ยังมีแนวคิดเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะมีการยกระดับการแสดงสัญลักษณ์ของความไม่เห็นด้วยต่อไป
รัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย
27ตุลาคม 2562
- ที่มา ครูบ้านนอก