ข่าวการศึกษา

ผอ.สทศ.สพฐ. ตอบคำถามว่าด้วยการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563

จากกรณีที่มีคำถาม ในช่วงถามตอบของการอบรม การการเรียนการสอนทางไกลฯ ท่าน ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สทศ.สพฐ. ได้ตอบไปแล้วในการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อบ่ายวันนี้ แต่ท่านก็ยังได้มาตอบในเฟซบุ๊กของท่านอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้

7 พ.ค.63
#วิ่งรอกมาตอบคำถามในการประชุม Video Conference กับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน #OnSite #OnAir #OnLine
#(ร่าง)สรุปแนวทางการดำเนินงานประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) จากการประชุมคณะกรรมอนุกรรมการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อาคารพญาไทพลาซ่า กรุงเทพฯ
วันที่ 7 พ.ค.63
1. จากแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563 เดิมของ สมศ. สรุปได้ว่ามีจำนวนสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ในระบบ) ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,929 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,749 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาเหล่านี้จะต้องเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่สี่ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 และสถานศึกษากลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะต้องจัดส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ปีการศึกษา 2561 สำหรับใช้การประเมินคุณภาพภายนอกแก่หน่วยงานต้นสังกัด ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563
2. แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19) และกระทรวงศึกษาธิการมีการขยายเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (เปิดเรียนเป็น 1 ก.ค.63) รวมทั้งได้มีการประกาศมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ของรัฐบาล จึงส่งผลกระทบต่อแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของ สมศ. ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีข้อเสนอแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) ประจำปีงบประมาณ 2563 ดังนี้
2.1 ให้ปรับแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของ สมศ.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19)
2.2 ให้ สมศ. วิเคราะห์รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการประเมิน ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,929 แห่งว่าควรใช้รูปแบบการประเมินหรือแนวทางการประเมินแบบใด คือ การประเมินที่ไม่ต้องลงพื้นที่ประเมิน (Non Visit) การประเมินที่ลงพื้นที่แบบบางส่วน (Partial Visit) หรือการประเมินลงพื้นที่แบบเต็มรูปแบบ (Full Visit)
2.3 เมื่อทราบว่าสถานศึกษากลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่งควรใช้รูปแบบการประเมินแบบใดแล้ว ให้คณะผู้ประเมินสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาต่าง ๆ เหล่านั้น ให้เข้าใจและมีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเมื่อทำการ Pre-Analysis รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาแล้วพบว่า สถานศึกษาใดที่ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ไปประเมิน (Non Visit) ผู้ประเมินก็ต้องมีการ feedback ให้สถานศึกษานั้นรับทราบข้อมูลและเกิดการพัฒนาต่อยอดด้วย และถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในบางประเด็น ให้ทีมผู้ประเมินวิเคราะห์และ focus ข้อมูลประเด็นหลักที่ต้องการให้ชัดเจนตรงประเด็น แล้วใช้วิธีการโทรศัพท์พูดคุย สอบถาม และนัดหมายวันเวลาในการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
2.4 ในกรณีที่มีการไปประเมินสถานศึกษาแบบบางวัน (Partial Visit) หรือประเมินแบบเต็มรูปแบบ (Full Visit) กับกลุ่มสถานศึกษาที่สามารถเปิดเรียนเปิดสอนได้ตามปกติ ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ให้คณะผู้ประเมินและสถานศึกษาดำเนินการประเมินโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
2.5 ให้ สมศ.สร้างความเข้าใจและประสานงานกับหน่วยงานต้นสังกัด (ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษา) หากผู้ประเมินต้องการข้อมูลบางประเด็นของสถานศึกษาเพิ่มเติมที่หน่วยงานต้นสังกัดสามารถให้ข้อมูลได้ รวมทั้งแจ้งให้สถานศึกษารับรู้ข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
2.6 ปรับลดวันที่ประเมินให้น้อยที่สุดแต่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ครอบคลุมในทุกด้านที่ทำการประเมิน ซึ่งอาจลดเหลือวันที่ใช้ในการประเมินเพียงจำนวน 1-2 วัน
2.7 ให้ผู้ประเมินยึดแนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา ลดภาระการประเมินกับสถานศึกษา และหลีกเลี่ยงกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดทำและขึ้นป้ายต้อนรับ การจัดกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ของนักเรียน เป็นต้น
2.8 ให้ สมศ. สะท้อนผลการประเมินให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษารับทราบ เพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อการพัฒนา โดยมีการสังเคราะห์ผลประเมินในประเด็นต่างๆ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เช่น คุณภาพของโรงเรียน โครงการ/กิจกรรมดีเด่นของโรงเรียน กระบวนการพัฒนาคุณภาพ ปัจจัยความสำเร็จ แนวทางการพัฒนาต่อยอด จุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษา เป็นต้น
2.9 ใช้คณะผู้ประเมินในเขตพื้นที่นั้นๆ ทำการประเมินสถานศึกษาในเขตพื้นที่นั้นๆ (เลี่ยงการข้ามจังหวัดประเมิน) เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามจังหวัด
2.10 สร้างมาตรฐานของผู้ประเมินให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ และเสนอสถิติ ข้อมูลปัญหาที่เกิดจากทีมผู้ประเมิน รวมทั้งข้อทักท้วงต่างๆ จากการประเมินสถานศึกษา
2.11 งดการประเมินกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,749 แห่ง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการประเมินของปีงบประมาณ 2563 จนถึงช่วงก่อนเปิดภาคเรียน 2563 (1 ก.ค.63) เพื่อให้สถานศึกษามีเวลาเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียน ก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563
3.พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 วันที่ 1 พ.ค.62 ยังกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย โดยที่รอบของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) จะครบรอบการประเมินในปี พ.ศ.2563 และปัจจุบันยังมีสถานศึกษาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) ดังนั้น อาจต้องรอความชัดเจนในเชิงนโยบายและเป็นไปตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ว่าจะยกยอดจำนวนสถานศึกษาที่ยังไม่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ไปสู่การประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้า (พ.ศ.2564-2568) หรือไม่อย่างไรต่อไป
ขอบคุณข้อมูลดีจากท่าน : ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สทศ.สพฐ.

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button