ข่าวการศึกษา
ศธ.มีแนวคิดผลักดันกีฬาในชีวิตประจำวันนักเรียน 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
ศธ. เล็งพัฒนากีฬาในสถานศึกษา พร้อมร่วมมือ วธ. สร้างความตระหนักศิลปวัฒนธรรมให้เด็กและเยาวชน พร้อมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมร่วม ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการด้านกีฬา, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนทุกระดับให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการส่งเสริมกิจกรรมด้านการกีฬา เพื่อให้เด็กมีทักษะกีฬาขั้นพื้นฐาน ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์กีฬา ผู้ฝึกสอน และสนามกีฬา เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้หารือกับหน่วยงานต่างประเทศหลายองค์กร เพื่อร่วมกันสนับสนุนการกีฬาในสถานศึกษาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรม อาทิ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในโรงเรียนหรือห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม สามารถแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญในการสืบสาน รักษา และต่อยอดวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่
ในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น ได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Literacy), การพัฒนาครูต้นแบบด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี, การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบทักษะศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการจัดทำข้อมูลสารสนเทศกำลังคนที่มีความสามารถพิเศษของประเทศ เป็นต้น
“ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะผลักดันเรื่องกีฬาในชีวิตประจำวันของนักเรียน ประมาณ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสกีฬาที่หลากหลาย และค้นหาความถนัดของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทักษะและศักยภาพ และการเพิ่มจำนวนของกรรมการผู้ตัดสินกีฬาประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการแข่งขันกีฬาในชุมชน ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นพัฒนาการของนักกีฬา ส่งผลให้มีการคัดเลือกและเฟ้นหานักกีฬาช้างเผือกที่มีความสามารถพิเศษในกีฬาแต่ละประเภท กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องตื่นตัวมาเป็นผู้นำการปฏิรูป และเริ่มสำรวจความพร้อมด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนด้านกำลังคน งบประมาณ และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน โดยคณะอนุกรรมการด้านกีฬามีแผนที่จะดำเนินกิจกรรมปฏิรูปประเทศด้านกีฬาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างวิถีชีวิตทางการกีฬา และการออกกำลังกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางการกีฬา และพัฒนานักกีฬาอาชีพผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การยกระดับลานกีฬาท้องถิ่นให้มีศักยภาพ, การใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่ออกกำลังกายและลานกีฬาสำหรับประชาชน, การจัดถนนสายกีฬา, การส่งเสริมให้มีการแข่งขันกีฬาทุกโครงการ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการจะช่วยพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านกีฬาให้กับเด็กและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สพฐ. ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดการเรียนการสอน “ห้องเรียนกีฬา” ใน 9 จังหวัด เพื่อจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านวิชาการ และพัฒนาทักษะกีฬาบาสเก็ตบอล ฟุตบอล และวอลเลย์บอล ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา อีกทั้ง ให้การสนับสนุนโรงเรียนในสังกัด เพื่อเป็นศูนย์บริการด้านกีฬาให้กับคนในชุมชน โดยโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์กีฬา เป็นสถานที่ออกกำลังกายและฝึกฝนทักษะกีฬาให้กับนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมให้ครูพลศึกษาเป็นวิทยากรฝึกสอนกีฬาให้คนในชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะด้านกีฬาให้กับเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
15/12/2563
ขอบคุณที่มาของข่าว : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.