เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวเปิดงานครบรอบ 9 ปี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และเฉลิมฉลองการครบรอบ 130 ปี แห่งการวัดและประเมินผลของไทย ตอนหนึ่งว่า ความรู้กับคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน การจัดการศึกษาต้องปลูกฝังทั้ง 2 สิ่งควบคู่กัน อย่าแยกความรู้กับความดีออกจากกัน
โดยเฉพาะครูต้องเป็นต้นแบบเรื่องคุณธรรมแต่ตอนนี้เราแยกความรู้กับคุณธรรมออกจากกันแยกวัดออกจากโรงเรียนขณะที่เทคโนโลยี มือถือ ไอแพดไอโฟนก็แยกลูกหลานออกจากพ่อแม่ ดังนั้น โรงเรียนต้องมีนโยบายการพัฒนาความดีคู่ความรู้ เพราะความรู้กับคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตาม 10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นทศวรรษแห่งความมืดมน ประชาชนถูกมอมเมาด้วยวัตถุนิยม บริโภคนิยม ขณะที่ในวงการศึกษาก็มีปัญหาคอรัปชั่นรุนแรง เป็นการทำลายประเทศชาติอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการสอบประเมินผล หากไม่อยู่บนพื้นฐานของความสื่อสัตย์สุจริตทุกอย่างก็จบ
“อย่างไรก็ตามอยากขอให้ยกเลิกนโยบายที่ลดคุณภาพการศึกษาเช่นการกลัวเด็กเรียนหนักเกินไป ซึ่งผมเห็นว่าเด็กไทยเรียนสบาย ครูก็สอนสบายที่สุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อาทิ เด็กจีนเรียนหนัก ครูสอนอย่างมีความรับผิดชอบ เราควรให้เด็กเรียนหนัก การสั่งให้ลดการบ้าน หรือลดเวลาเรียนนั้น อยากให้มีการทำวิจัยการจัดการเรียนการสอนก่อน ว่าเด็กไทยเรียนหนักจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จะทำให้เรารู้ว่าเราอยู่จุดใด นอกจากนี้ควรลงโทษการโกงการสอบอย่างจริงจังและรุนแรง ระบบการศึกษาที่สร้างคนดี คนเก่ง และเสียสละเพื่อส่วนรวม คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการในวันนี้” องคมนตรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการศึกษาไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คือเรายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นครูอาจารย์จะต้องสังเกตว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ทุ่มเทเพียงพอแล้วหรือไม่ ดังนั้นต้องส่งเสริมให้ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา ทั้งกระทรวง เขตพื้นที่ และ โรงเรียนออกนโยบายและข้อปฏิบัติที่เพิ่มคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก คือ
1. ครูคุณภาพมีจำนวนที่พอเพียง โดยคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องช่วยกันผลิตครูคุณภาพ ขณะที่ครูประจำการ 4 แสนคน ต้องมีเป้าหมายในการเพิ่มคะแนนโอเน็ตภายในกี่ปี และต้องมีผู้รับผิดชอบด้วย
2.มีนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครูที่ถูกทาง เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา ครูมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งครูที่มีหนี้สินก็คงสอนได้ไม่เต็มที่ เราเรียกร้องให้ครูเสียสละ ก็ต้องช่วยเหลือครูด้วยทั้งเรื่องบ้านพัก การเดินทาง เป็นต้น ซึ่งตนเชื่อว่าหากครูยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยครูได้
3 การเสนอผลงานทางวิชาการ โดย ก.ค.ศ. ควรทำให้ง่าย เพื่อไม่ให้ครูเสียเวลามากจนทำให้ไม่มีเวลาเตรียมการสอน
4.ยกเลิกโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนซึ่งพบว่าบางครั้งมีมากถึง50-60โครงการ ทำให้ครูและผู้บริหารไม่มีเวลาสอน
ที่มา : มติชน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo