ข่าวการศึกษา

ศธ.ประกาศความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ศึกษาธิการ – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.วิศณุ ศรียะพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารองค์กรหลัก ร่วมการแถลงข่าว “ประกาศความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2558 ที่ห้องประชุม สพฐ.1

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนนักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร และประชาชนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้น “เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สานสามัคคีอาเซียน” ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ”

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1) เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 2) ยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษา 3) ผลิตกำลังคนให้มีทักษะสอดรับกับตลาดแรงงานอาเซียน 4) พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5) พัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเคลื่อนย้าย/แลกเปลี่ยน 6) เสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันในภูมิภาค

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงประกาศความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 4 ส่วน ดังนี้

1) การจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา จำนวน 447 ศูนย์ทั่วประเทศ  ซึ่งกระจายอยู่ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพั้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศสมาชิก ตลอดจนพัฒนาและจัดหาสื่อสารเรียนการสอน ให้บริการอบรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนด้วย ซึ่งทุกศูนย์มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมและโครงการตามแผนงาน

ทั้งนี้ ตลอดเดือนธันวาคม 2558 จะจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อแสดงถึงความพร้อมของศูนย์อาเซียนศึกษาที่กระจายอยู่ทั้ง 77 จังหวัดด้วย

2) เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค   โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ รองรับนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติในประชาคมอาเซียน ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการใน 3 หลักสูตร รวมจำนวน 14 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้แก่ หลักสูตรนานาชาติ จำนวน 8 โรงเรียน, หลักสูตรพหุภาษา จำนวน 4 โรงเรียน และหลักสูตรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์สองภาษา จำนวน 2 โรงเรียน โดยในอนาคตมีเป้าหมายที่จะขยายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อยจังหวัดละ 2 โรงเรียน พร้อมทั้งจะขยายสมาชิกให้ครอบคลุมทุกระดับและทุกสังกัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2559-2562 กระทรวงศึกษาธิการมีแผนงานที่จะพัฒนาระบบบริหารจัดการมัธยมศึกษาให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มจำนวนโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอย่างน้อยจังหวัดละ 2 โรงเรียน และพัฒนาศูนย์อาเซียนศึกษาให้เป็นคลังความรู้ในเรื่องของอาเซียน

ในส่วนของ สกอ.จะพัฒนาทักษะด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมนักเรียนนักศึกษาในประชาคมอาเซียน ตลอดจนเชื่อมโยงระบบคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน

เช่นเดียวกับ สช. และ สอศ.ที่จะจัดอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารแก่ผู้เรียน ครู และบุคลากร พร้อมทั้งขับเคลื่อนงานที่ช่วยสนับสนุนการเตรียมความพร้อมกำลังคนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

3) การเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน  กระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualification Framework : NQF) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนสู่มาตรฐานสากล และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลที่เชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับการเทียบโอนประสบการณ์ โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (Task Force on ASEAN Qualifications Reference Framework : TF-AQRF) โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

4) การยกระดับคุณภาพภาษาอังกฤษ  กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และประชาชนทั่วไป โดยในส่วนของผู้เรียนได้พัฒนาให้มีสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด รวม 232 โรงเรียน มีโรงเรียนนำร่องการจัดการเรียนการสอนสองภาษา 548 โรงเรียน และมีการจัดตั้งศูนย์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในระดับเขตพื้นที่และภูมิภาค รวม 367 ศูนย์

นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่ช่วยยกระดับภาษาอังกฤษผู้เรียนในทุกระดับชั้นอย่างเร่งด่วน อาทิ โครงการยกระดับภาษาอังกฤษด้วยหลักสูตร Echo Hybrid ผ่านแอพพลิเคชันเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่าน Device ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่มีการอ้างอิงกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages), โครงการภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย และ  กศน., การจัดค่ายฝึกทักษะภาษาอังกฤษนอกห้องเรียนหลักสูตรเข้มข้น เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จะยกระดับให้ครู/อาจารย์สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ โดยในการพัฒนาครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้พัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษตามมาตรฐาน CEFR และการสอบวัดตามเกณฑ์ TOEIC (The Test of English for International Communication) เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียนผ่านกิจกรรมที่มีความหลากหลายได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้แก่ครูในรูปแบบต่างๆ เช่น การอบรมทักษะภาษาอังกฤษผ่านระบบ DLTV/DLIT, การอบรมเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษจากอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทย, การอบรมครูแบบเข้มโดยเทรนเนอร์ชาวต่างชาติเป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีเป้าหมาย 500 คนในปี 2559 และในปี 2560 จะมีการบูรณาการการอบรมครูแบบเข้มแก่ครู/อาจารย์ในสังกัด สอศ. สกอ. และ สช.

นอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะมีแผนที่จะพัฒนาทั้งผู้เรียน ครู และผู้บริหารแล้ว ยังได้พัฒนานวัตกรรมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เพื่อให้กำลังคนของประเทศสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพในประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการแลกเปลี่ยนแรงงานของประชาคมอาเซียนให้มีความเพียงพอกับความต้องการนั้น ขณะนี้ สอศ.ได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับภาษาอังกฤษแก่กำลังคนอาชีวะใน 4 กลุ่ม ดังนี้

1) นักเรียนนักศึกษา โดยได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร English Program (EP) และ Mini English Program (MEP) ในสถานศึกษา 147 แห่ง และจะขยายสถานศึกษาเพิ่มจนครบ 200 แห่งในปี 2560 นอกจากนี้ได้เปิดสอนภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการทำงาน ทั้งในส่วนของคำศัพท์ทางเทคนิควิชาชีพและรูปประโยคในการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้กำลังคนสามารถสื่อสาร รับฟังคำสั่ง ตลอดจนสามารถถ่ายทอดได้ โดยนำร่องไปแล้วใน 3 สาขาๆ ละ 1,000 คำ ได้แก่ สาขาช่างอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและการท่องเที่ยว และสาขาการดูแลสุขภาพ

2) ครู ได้มีการพัฒนาทั้งครูที่สอนภาษาอังกฤษ ให้มีความเป็นเลิศด้านทักษะภาษาอังกฤษโดยตรง และพัฒนาครูผู้สอนวิชาชีพให้สามารถสื่อสารและถ่ายทอดได้

3) ผู้บริหาร จัดโครงการอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษเร่งรัดพิเศษ โดยสามารถลงทะเบียนเรียนผ่านสมาร์ทโฟนได้ด้วย

4) กำลังคนในสถานประกอบการ  โดยร่วมมือกับสถานประกอบการ สมาคมและชมรมภาคอาชีพ นำร่องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่พนักงานที่กำลังจะเลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้างาน ใน 2 สาขา คือสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว และสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคาดว่าในปี 2559 จะสามารถยกระดับภาษาอังกฤษแก่กำลังคนได้กว่า 3,000 คน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายการเปิดปิดภาคเรียนตามปฏิทินอาเซียนของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยด้วยว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนขึ้นอยู่กับความพร้อมของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง บางมหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องปรับตัว เพราะมีความเชื่อมโยงและต้องรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนก็จะตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน แต่มหาวิทยาลัยใดยังไม่พร้อมก็สามารถเปิด-ปิดแบบเดิมไปก่อนได้ แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ ก็ควรที่จะต้องเปิด-ปิดไปในแนวทางเดียวกัน

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button