ข่าวการศึกษา

ศธ.งัดโอเน็ตสกัดกวดวิชา

ปรับมาตรฐานข้อสอบโอเน็ต ไม่ออกนอกสาระการเรียนรู้ เพื่อลดการกวดวิชา รวมทั้งยังใช้คะแนนโอเร็ตรายวิชาเป็นเกณฑ์คัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย โดยสั่ง สทศ.ทำคลังข้อสอบ 30,000 ข้อให้เด็กได้ศึกษา ไม่ต้องดิ้นรนไปติวอีก

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังเร่งดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในหลายๆ ด้าน รวมถึงการพัฒนาข้อสอบวัดมาตรฐานกลางที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดยเฉพาะการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ที่ข้อสอบจะต้องมีมาตรฐานมากขึ้น และออกข้อสอบตามเนื้อหาที่อยู่ในสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน จะไม่มีการออกข้อสอบนอกเหนือจากสาระการเรียนรู้ และผลการสอบโอเน็ตจะเป็นมาตรฐานกลางที่นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต เช่น นำไปใช้เป็นองค์ประกอบในการเลื่อนชั้นเรียน การเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา และการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เป็นต้น

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ในอนาคตเมื่อคะแนนโอเน็ตเชื่อถือได้ ก็จะมีการกำหนดว่าคะแนนโอเน็ตในรายวิชาใดต้องได้เท่าไหร่ จึงจะเข้าสู่มหาวิทยาลัยในคณะนั้นๆ ได้ เพื่อที่จะให้เด็กไม่ต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเพื่อมาสอบแข่งขันกันอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) จะตั้งขึ้นทั้ง 3 ชุด จะต้องดูเนื้อหา มาตรฐานหลักสูตร เพื่อกำหนดสาระในแต่ละวิชาให้ชัดเจน จากนั้นเมื่อสาระวิชาต่างมีความชัดเจน ข้อสอบโอเน็ตก็จะต้องออกตามนั้น โดยมีแนวความคิดว่า สทศ.จะเป็นเจ้าภาพจัดทำคลังข้อสอบที่มีข้อสอบจำนวนมากอยู่ในคลังข้อสอบพร้อมคำเฉลย และเปิดเผยให้ทุกคนเข้าถึงได้ เด็กจะเข้ามาทดสอบ หรือโรงเรียนกวดวิชาจะนำไปใช้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะหากเด็กจำข้อสอบในคลังข้อสอบที่อาจจะมีถึง 30,000 ข้อ เพื่อไปสอบได้ ก็ถือว่าเด็กคนนั้นมีความรู้ มีคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ เมื่อทุกคนเข้าถึงข้อสอบได้ก็คงไม่มีใครดิ้นรนไปกวดวิชา.

ที่มา : ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button