ให้โรงเรียนประเมินภายในเอง
“ธีระเกียรติ”เผยศธ.เตรียมประกาศตัวบ่งชี้เร็วๆนี้ส่วนภายนอกเป็นหน้าที่”สมศ.”
กรอบประเมินคุณภาพการศึกษาใกล้ลงตัว “ธีระเกียรติ” เผย “ศธ.” เตรียมประกาศตัวบ่งชี้เพื่อให้โรงเรียนประเมินภายในเอง ส่วน สมศ.ทำหน้าที่ประเมินภายนอก ย้ำผลประเมินออกมาในรูป ดีมาก ดีปานกลาง พอใช้ ไปจนถึงควรปรับปรุง ไม่มีสถาบันไหนตกประเมิน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังออกแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะใช้ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา โดยการประเมินภายใน จากการศึกษาการดำเนินงาน เห็นว่าควรให้โรงเรียนเป็นผู้ประเมินตนเอง ภายใต้หลักเกณฑ์การประเมินที่ ศธ.จะกำหนดกรอบขึ้นใหม่ ภายใต้นโยบายการปฏิรูปการศึกษา และ 4 มาตรฐาน คือ 1.มาตรฐานผลการเรียนการสอน 2.มาตรฐานการบริหารจัดการศึกษา 3.มาตรฐานการจัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 4.มาตรฐานระบบประกันคุณภาพ
รมช.ศธ.กล่าวอีกว่า ส่วนการประเมินภายนอกเป็นหน้าที่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งจากนี้จะมีการหารือกับ สมศ.เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการประเมินภายนอก ซึ่งยังมีความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับผู้ที่จะทำหน้าที่ในการประเมิน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เบื้องต้นจะต้องมีการทำบัญชีคัดเลือกรายชื่อผู้ประเมินที่ได้รับการฝึกฝนอย่างมีมาตรฐาน และต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการบริหาร เข้าใจโรงเรียนจริงๆ เช่น เป็นผู้บริหารหรืออดีตผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าตัวแทนจากส่วนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็ถือว่าเป็นหน่วยงานอิสระจากโรงเรียน ก็สามารถทำหน้าที่ประเมินภายนอกได้เช่นกัน
“หากใช้คนจาก สพฐ.หรือ สอศ.ได้ ก็จะสามารถลดงบประมาณของภาครัฐได้ จากที่ผ่านมา สมศ.ต้องจ้างบริษัทภายนอกมาเป็นผู้ประเมิน แต่เรื่องนี้จะต้องมีการหารือเรื่องนี้กับทาง สมศ.ก่อน เมื่อหารือแล้วจะมีการทำคู่มือการประเมินมาตรฐานตาม 4 มาตรฐานข้างต้นส่งไปให้แก่โรงเรียนและวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ารับประเมินจากภายนอกเช่นกัน และในการประเมินจะไม่มีการแจ้งให้โรงเรียนทราบล่วงหน้า เพื่อจะเป็นการวัดคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่ผักชีโรยหน้า” รมช.ศธ.กล่าว
ด้านผลการประเมิน นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า ในการนำร่องการประเมินครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการชี้ว่าโรงเรียนไหนตกประเมินหรือผ่านการประเมิน แต่เป็นการประเมินเพื่อรับรองว่าคุณภาพในด้านต่างๆ ของโรงเรียนว่าเป็นอย่างไร ดีมาก ดี ปานกลาง พอใช้ หรือควรปรับปรุง และเป็นการทดสอบตัวบ่งชี้และวิธีการ รวมไปถึงผู้ที่ทำหน้าที่ในการประเมินว่า ทำได้ดี ทำได้จริงหรือไม่ ลดภาระให้ครูและสถานศึกษาจริงหรือไม่ เมื่อนำไปใช้แล้ว หากพบปัญหาจะได้นำมาปรับแก้ เพื่อให้ตัวบ่งชี้สามารถนำไปใช้จริงได้อย่างมีคุณภาพ.
ที่มา : ไทยโพสต์