ข่าวการศึกษา

การศึกษากับการพัฒนาประเทศ

รมช.ศธ.บรรยาย “การศึกษากับการพัฒนาประเทศ”

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “การศึกษากับการพัฒนาประเทศ” ในงานสัมมนาผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวง โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ เข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การบรรยายครั้งนี้จะนำเสนอในหลายมุมมอง ทั้งในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จิตแพทย์เด็กวัยรุ่น และการบริการทางสังคมในประเทศอังกฤษมานานกว่า 20 ปี ซึ่งบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จ พบว่ามีหลายปัจจัยที่ช่วยผลักดัน อาทิ วิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง, ผลการประเมินด้านต่างๆ ในระดับนานาชาติ ที่จะเป็นบ่งบอกให้ประเทศต่างๆ ต้องปฏิรูป เพราะไม่เคยมีประเทศใดที่จะปฏิรูปได้ด้วยตนเอง เช่น ผลการประเมินของ PISA ที่แสดงให้เห็นอันดับการเรียนรู้ของเด็กไทย ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเอง หรือการมีผู้นำในการปฏิรูปที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน เช่น ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็ง เน้นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ จนทำให้ประเทศประสบความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน

ดังนั้น การศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จำเป็นจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดเน้นในเรื่องสำคัญอย่างชัดเจน โดยสามารถนำตัวอย่างที่ดีของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ แต่ไม่ควรจะใช้มากนัก เพราะบริบทแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน และมีปัจจัยหลากหลายที่ทำให้ประสบความสำเร็จแตกต่างกัน

ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวคิด “การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์” หลายประการ อาทิ

  • การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนกับเด็กในช่วงอายุน้อยๆ หรือช่วงก่อนวัยเรียน (Pre-School Education) เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่สูง เพราะเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนามากที่สุด เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิตและทักษะทางสังคม ดังนั้นในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาจึงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือคนจนด้านการศึกษาในระดับอนุบาล โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาระดับอนุบาล จำนวน 16,514 เหรียญสหรัฐต่อคน ซึ่งได้ผลต่อแทนกลับมาถึง 127,813 เหรียญสหรัฐต่อคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่า

  • การพัฒนาด้านทักษะการทำงานและทักษะชีวิต  ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลสำเร็จต่อการพัฒนามนุษย์ คือ การพัฒนามนุษย์ให้มีทั้งทักษะการทำงานและทักษะชีวิต ที่สามารถวัดและประเมินผลได้ เพื่อที่จะได้นำทักษะนั้นไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไป

  • การพัฒนาด้านภาษา ต้องมีการกำหนดนโยบายด้านภาษาของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษและถือว่ามีความจำเป็นในยุคปัจจุบัน เพราะภาษาอังกฤษคิดเป็น 70% ของภาษาในอินเทอร์เน็ต, เป็นภาษาสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์, เป็นภาษาทางการทูต เป็นต้น ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีและกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเห็นพ้องกันที่จะยกระดับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของคนไทยให้ดีขึ้น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จาก 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, จัดทำคลิปวิดีโอ I Speak English เพื่อชีวิตที่ Better เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ, จัดทำแอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ “Echo English” ซึ่งมีบทเรียนกว่า 200 บทเรียน ให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาได้ฟรี ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทางมือถือและแท็บเล็ต

  • การให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม  ในเรื่องของการสร้างโอกาสแก่เด็ก นับว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความสำคัญมากกว่ากระทรวงศึกษาธิการเสียอีก เนื่องจากขั้นแรกของการพัฒนามนุษย์ ต้องเริ่มจากการสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในช่วงของการศึกษาก่อนวัยเรียน ซึ่งยอมรับว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการลงทุนโครงสร้างที่ดี ทั้งด้านสาธารณสุข โภชนาการ สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นต้น จากนั้นจึงจะพัฒนาด้านวิชาการและเนื้อหาให้มีคุณภาพในการเรียนรู้ต่อไป เท่าที่ทราบคือรัฐบาลจัดสรรงบประมาณดำเนินงานในส่วนนี้เพียง 0.6-0.7 % ของงบประมาณทั้งประเทศ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้งานส่วนใหญ่กลายเป็นงานเชิงรับ (Reactive) เพื่อแก้ไขและซ่อมแซมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม มากกว่าการลงทุนพัฒนามนุษย์ในด้านต่างๆ เพราะมีงบประมาณจำกัด จึงขอปวารณาตัวและยินดีที่จะร่วมทำงานและช่วยให้ความรู้ด้านการศึกษาก่อนวัยเรียนเมื่อมีโอกาสต่อไป

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวขอบคุณในฐานะวิทยากรที่ได้มาให้ความรู้และมุมมองด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเห็นด้วยกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยให้สามารถสื่อสารกับนานาประเทศได้ ซึ่งอาจมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาษาอังกฤษระยะยาว 20 ปีต่อไป ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เริ่มขับเคลื่อนการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานแล้ว โดยมีการสรุปรายงานการดำเนินงานและข่าวเป็นภาษาอังกฤษรายงานต่อรัฐมนตรีทุก 2 สัปดาห์ และในอนาคตจะพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้ฝึกพูดฝึกใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการสื่อสารต่อไป

ในส่วนของการลงทุนด้านการศึกษาก่อนวัยเรียน เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้อนุมัติโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนครบอายุ 3 ปี (26 เดือน) ที่อยู่ในครัวเรือนยากจนและเสี่ยงต่อความยากจน และดำเนินการโครงการต่อเนื่องสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ในแต่ละปีเป็นเงิน 600 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิด การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ตลอดจนการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับบุคลากรของประเทศ เชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็งได้อย่างแน่นอน

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button