ข่าวการศึกษา

อธิการฯมรภ.โคราชยันหลักสูตรครุศาสตร์ไม่เถื่อน โบ้ยคุรุสภาโทร.แจ้งเปลี่ยนเกณฑ์กะทันหัน

นายวิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีที่กลุ่มบัณฑิตคณะครุศาสตร์ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) โครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) รุ่นที่ 15 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ประมาณ 300 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ช่วยเยียวยากรณีที่จบการศึกษาแล้ว แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากคุรุสภาไม่รับรองหลักสูตรนั้น มหาวิทยาลัยจะทำหนังสือชี้แจงการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการ ศธ., สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจ และยืนยันว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ใช่หลักสูตรเถื่อน ได้ส่งให้ สกอ.รับทราบ และได้รับการรับรองปริญญาจากคุรุสภา ทั้งภาคปกติ และภาค กศ.ปช.ซึ่งเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ ให้เปิดตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-2554 และคุรุสภาได้ออกใบอนุญาตฯ ให้มาโดยตลอด แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2556 คุรุสภาได้แจ้งทางโทรศัพท์ว่านักศึกษาภาค กศ.ปช.ที่เข้าเรียนปี 2554 ของทุกมหาวิทยาลัย ให้เทียบโอนความรู้เพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน จากนั้นอีก 1 ปี ให้นำประสบการณ์มาเทียบโอนความรู้ เพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ซึ่งในช่วงที่มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นักศึกษารุ่นนี้ได้เรียนชั้นปีที่ 3 และยังมีนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้แล้วอีก 2 รุ่น

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า หลังได้รับแจ้งจากคุรุสภา มหาวิทยาลัยได้ชี้แจงนักศึกษาเป็นระยะๆ และเตรียมการให้นักศึกษาได้เรียนตามเกณฑ์คุณสมบัติในการเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา เพื่อขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนในวันที่ 21 มีนาคม 2558 อีกครั้ง เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมการเกี่ยวกับรายวิชาที่ต้องนำไปเทียบโอน โดยคณะครุศาสตร์ได้ประสานข้อมูลกับสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ซึ่งมีช่องทางติดต่อในการเตรียมการเทียบโอนผ่านทางเว็บไซต์ของคณะคุรุศาสตร์ จะมีความเคลื่อนไหวทั้งกำหนดการเรียน ตารางเรียน การลงทะเบียนเรียน ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเทียบโอน โดยคณะครุศาสตร์เปิดสอนภาคเรียนฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559 ให้นักศึกษาภาค กศ.ปช.รุ่นที่ 15 และที่มีรายวิชาที่ใช้ในการเทียบโอนเนื้อหาความรู้กับสาระความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดด้วย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า อีกทั้งยังได้แจ้งย้ำนักศึกษาถึงมติคณะกรรมการคุรุสภา ที่ไม่ให้ใบอนุญาตฯ กับนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต/ศึกษาศาสตรบัณฑิตทุกมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2556 แต่ให้เทียบโอนความรู้ตามข้อบังคับคุรุสภา 9 มาตรฐาน เพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน และจะไม่อนุญาตให้เทียบโอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป อีกครั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การแจ้งหลักเกณฑ์ใหม่ ทางมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากคุรุสภา

“นักศึกษาภาค กศ.ปช.ได้ขอให้มหาวิทยาลัยจัดทำเอกสารการรับรองปริญญาทางการศึกษากรณีพิเศษ เสนอคุรุสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ทำให้ โดยส่งให้คุรุสภาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และที่ผ่านมาก็ได้เสนอขอให้คุรุสภาพิจารณารับรองปริญญาให้นักศึกษารุ่นนี้ไปแล้วถึง 2 ครั้ง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะเดียวกันได้ส่งคำขอเทียบโอนจากนักศึกษาที่ยื่นมาแล้ว 118 ราย ให้คุรุสภาพิจารณา เพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเทียบโอน 9 มาตรฐาน นักศึกษาต้องออกเอง เพราะมหาวิทยาลัยไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน กว่าจะรู้ว่าต้องใช้วิธีเทียบโอน นักศึกษาก็เรียนอยู่ปี 3 แล้ว และทันทีที่รู้ ก็งดรับนักศึกษา ซึ่งขณะนี้ยังเหลือนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนี้อีก 2 รุ่น” นายวิเชียรกล่าว

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรเถื่อนแน่นอน เพราะ สกอ.และคุรุสภา รับรองหลักสูตรต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องที่คุรุสภาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการอนุมัติปริญญา โดยให้นักศึกษาต้องเทียบโอนความรู้ เพื่อขอรับใบอนุญาตฯ แทน มีหลายมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า แต่ละแห่งใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button