ข่าวการศึกษา

” 12 ข้อเท็จจริง ” การศึกษาไทย เด็กเสียโอกาส…ชาติเสียอะไร?

“ปฏิรูปการศึกษา”…

เป็นอีกหนึ่ง “วาระแห่งชาติ” ที่พูดถึงกันมานาน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ปัญหาต่างๆในแวดวงการศึกษาไทย ส่งผลให้ “เด็ก-ประเทศชาติ” เสียโอกาส!!!

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

“สถาบันอนาคตไทยศึกษา” เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “โอกาสที่เสียไป : 12 ข้อเท็จจริง(Fact) การศึกษาไทย”เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการศึกษาไทยมีผลกระทบต่อเด็ก พ่อแม่ นายจ้าง ภาครัฐ และเศรษฐกิจอย่างไร มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้…

ถ้าเป็นเด็กหัวดี เกิดในครอบครัวที่มี “รายได้มัธยฐาน” คือ ราว 16,000 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 3 ขวบ คงเข้าเรียนที่ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้น ระบุว่า การลงทุนการศึกษา “เด็กก่อนวัยเรียน” มีผลตอบแทนสูงกว่าวัยอื่นมาก แต่ทรัพยากรที่ใส่เข้าไปไม่มาก ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย

Fact 1 : ผลการคัดกรองเด็กพัฒนาการต่ำกว่าวัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน มีพัฒนาการต่ำกว่าวัย แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ มีสัดส่วนราว 10% ส่วนภาคตะวันตกสูงสุดคิดเป็น 47%…Fact 2 : ผลสำรวจการอ่านออกเขียนได้ กระทรวงศึกษาธิการ ณ เดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า เด็กนักเรียนชั้นประถม 1-6 ราว 140,000 คน “อ่านไม่ออก” และราว 270,000 คน “เขียนไม่ได้”ทั้งๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายให้ปี 2558 เป็น “ปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้”

Fact 3 : ปัญหายังส่งต่อไปถึงระดับมัธยม โดยจากผลการสอบนานาชาติ(PISA) พบว่า เด็กไทยราว 1 ใน 3 “สอบตก” เรื่องการอ่าน ซึ่งคะแนนเฉลี่ย PISA ด้านการอ่านของเด็กไทยต่ำกว่าเวียดนามด้วย…Fact 4 : รายงานสถิติการศึกษาของประเทศไทยปี 2556-2557 พบว่า เด็กที่เข้าเรียน ป.1ราว 1 ล้านคน จะเรียนจนจบ ป.6 ที่ 92% เรียนต่อจนจบ ม.3ที่ 83% และเรียนจนจบชั้น ม.6 ประมาณ 63% เท่ากับมีเด็กที่ “เลิกเรียนกลางคัน” และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.6 ราว 337,000 คน…

เด็กเหล่านี้ “หายไปไหน”???…ผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พบว่า ปี 2556 มีเด็ก 36,537 คน ที่ถูกดำเนินคดีโดย “สถานพินิจ” และ 120,000 คน คือจำนวน “แม่วัยใส”

หากเด็กไปตลอดรอดฝั่งคงอยากเข้า “มหาวิทยาลัย” ซึ่งต้องผ่านการสอบ “แอดมิชชั่น” และเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะสอบติด อาจต้องย้ายมาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะโรงเรียนระดับ “ท็อป” ที่ส่งเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้เกือบทั้งหมดอยู่ในเมืองกรุง แต่การจะเข้าเรียนได้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ “เด็กภูธร”…

Fact 5 : ผลสำรวจของสำนักงานทดสอบการศึกษาแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า 50 โรงเรียนที่คะแนนสอบ “โอเน็ต” สูงสุด 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ จึงไม่น่าแปลกที่สัดส่วนการเรียนต่อ “ปริญญาตรี” ของเด็กในกรุงเทพฯ จะสูงถึง 65% ขณะที่สัดส่วนทั้งประเทศอยู่ที่ 28% เท่านั้น…Fact 6 : เด็กยังต้องเรียน “กวดวิชา” เพื่อติวเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ พบว่า 60% นักเรียนชั้น ม.ปลาย เรียนกวดวิชา มีค่าใช้จ่ายรวมค่าเดินทาง-ค่าที่พักแล้วเป็นเงิน 22,592 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 1.3 เท่า ของค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนปกติ

Fact 7 : ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ไม่มี “เงินเก็บ” พอที่จะส่งลูกเรียน “มหา’ลัย” แม้จะกู้ “กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ.ได้ก็ตาม โดยค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ตลอดการเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี เฉลี่ย 502,000 บาท ที่เหลือกู้ กยศ.ได้ส่วนหนึ่ง แต่ครอบครัวต้องมีเงินเก็บอีกราว 326,400 บาท ซึ่งมีครอบครัวเพียง 27% ที่มีเงินเก็บมากพอโดยไม่ต้องกู้ยืม อีกราว 8% กู้ กยศ.เพิ่ม อีก 65% กู้ กยศ. แล้วก็ยังมีเงินไม่พอ

Fact 8 : จำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นมากจากเมื่อ 10 ปีก่อน จาก 123 แห่ง เป็น 177 แห่ง จำนวนที่นั่งมีมากจนล้น โดยข้อมูลของ “สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย” พบว่า ปี 2558 มีที่นั่งมากกว่าจำนวนเด็กที่เข้าสอบ มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาผ่านการสอบแอดมิชชั่น 1.51 แสนคน แต่มีนักเรียนมาสมัครสอบเพียง 1.24 แสนคน มีเด็กที่ผ่านการคัดเลือก 91,813 คน แม้จะยังไม่ได้รวมเด็กที่ผ่านการคัดเลือกแบบอื่นๆ เช่น การรับตรงและโควตา แต่สะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษา “ล้น” เกินความต้องการ

Fact 9 : มีเด็กจบใหม่ที่ตกงานเกิน 6 เดือนเพียง 1% แต่ปัญหา คือ มีโอกาสไม่น้อยที่จะได้งาน “ไม่ตรง” กับสาขาที่เรียน ส่วน “เงินเดือน” ขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน และจบจากที่ใดโดยเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัยที่เข้าไม่ยาก และได้งานที่ต่างจังหวัด มีโอกาสได้เงินเดือน 12,000 บาท ถ้าได้งานที่กรุงเทพฯและจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อาจได้เงินเดือนมากเป็น 2 เท่า…Fact 10 : เงินเดือน “บัณฑิต” จบใหม่ระดับปริญญาตรี เฉลี่ยอยู่ที่ 14,500 บาท แต่ถ้าแยกตามอาชีพ พบว่าเด็กที่ได้งาน “สายอาชีพ” จะได้เงินเดือนมากกว่าเด็กที่จบไปเป็น “เสมียน” ราว 2,500-4,500 บาท เป็นต้น

เด็กเสียโอกาส… ประเทศเสียอะไร???

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า การศึกษาที่ไม่ได้ช่วยสร้างโอกาสที่ดีขึ้นอย่างที่หวัง ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับตัวเด็ก แต่ทำให้พ่อแม่ นายจ้าง หรือภาครัฐ “เสียโอกาส” ด้วย โดยเฉพาะ “ภาครัฐ” ที่ทุ่มเทงบประมาณมากมายให้กับการศึกษา แต่ไม่เกิดผลลัพธ์ดังคาด เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม สถาบันฯได้คำนวณพบว่า การที่ไทยยังปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ทำให้มีต้นทุน “ค่าเสียโอกาส” สะสมแล้วเป็นจำนวนมากถึง 1.5 ล้านล้านบาท

Fact 11 : 1.5 ล้านล้านบาท คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาสสะสม ที่เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จนับตั้งแต่เมื่อปี 1999 ที่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้ คิดเป็น 11% ของจีดีพี ปี 2016 ขณะที่อัตราการเติบโตจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปี 2000-2016 อยู่ที่ 0.14% ถ้าคิดเป็นระดับจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาทต่อปี

Fact 12 : ถ้าเริ่มวันนี้ต้องใช้เวลาอีก 10 ปีกว่าจะปฏิรูปสำเร็จ และอีก 20 ปีจะเห็นผลสำเร็จ นั่นคือปี 2049 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า จะได้เห็นแรงงานชุดใหม่ที่มีทักษะดีขึ้นกินสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานประเทศ

“ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบของปัญหาการศึกษา ระยะสั้นกระทบไม่มาก แต่ระยะยาวมีผลมหาศาล เราต้องปฏิรูปการศึกษาอย่าง “รีบ-เร่ง-เร็ว” และวิธีนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนที่สุด ถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้ ยิ่งนานวันต้นทุนค่าเสียโอกาสจะยิ่งเพิ่มขึ้น การปรับปรุง “คุณภาพการศึกษา”…

รอไม่ได้ ต้องทำตอนนี้!!!

ที่มา : แนวหน้า

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button