ข่าวการศึกษา

ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี – เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ซึ่งพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา ได้ลงนาม มีผลตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติหน้าที่ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (4) (11) (ข) และ (จ) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ประกอบกับมติคณะกรรมการคุรุสภา ในการประชุมครั้งที่ 4/2559 วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคณะกรรมการคุรุสภาจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559”

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ 12 แห่งข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 “เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 11 (1) (2) (3) (4) แล้ว ถ้าเลขาธิการคุรุสภาเห็นว่า กรณีไม่มีมูลเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยยุติเรื่อง

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 13/1 แห่งข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 “ข้อ 13/1 กรณีสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา มีพฤติกรรมประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพและได้แจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษแล้วและคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพไม่ร้ายแรง ให้คณะกรรมการวินิจฉัยโทษตามควรแก่กรณีโดยไม่ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนก็ได้

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 15 แห่งข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 15 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน ให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน ประกอบด้วย

(1) ประธานอนุกรรมการสอบสวน ต้องเป็นสมาชิกคุรุสภาประเภทสามัญ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี ไม่เคยกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือกระทำผิดวินัยและมีตำแหน่งหรือวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษ แม้ภายหลังประธานอนุกรรมการสอบสวนจะมีตำแหน่งหรือวิทยฐานะต่ำกว่าหรือเทียบได้ต่ำกว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษ ก็ไม่กระทบถึงการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการสอบสวน

(2) อนุกรรมการ ให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกคุรุสภาประเภทสามัญ และไม่เคยกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือกระทำผิดวินัย

(3) อนุกรรมการและเลขานุการ ให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับปริญญา ทางกฎหมายหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งนิติกรหรือผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมการดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือการดำเนินการทางวินัย หรือผู้มีประสบการณ์สอบสวนจรรยาบรรณหรืองานวินัย ในกรณีจำเป็นจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้

การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับแต่งตั้ง และในกรณีที่ผู้ได้รับแต่งตั้งมีผู้บังคับบัญชาต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นด้วย”

ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 55/1 แห่งข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553

“ข้อ 55/1 การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้คณะกรรมการวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภทที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้รับ”

ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นหมวด 13 การพักใช้ใบอนุญาต ข้อ 60/1 ข้อ 60/2 ข้อ 60/3 และข้อ 60/4 แห่งข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553

“หมวด 13

การพักใช้ใบอนุญาต

ข้อ 60/1 กรณีปรากฏว่าผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา กระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้เลขาธิการนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนหรือสอบสวนทันที เมื่อคณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนหรือสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตไว้ก่อน โดยไม่ต้องรอผลการสืบสวนหรือสอบสวนก็ได้

(1) มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือเกี่ยวข้องกับค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

(2) มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ หรือกระทำล่วงละเมิดทางเพศกับข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาหรือบุคคลอื่น

(3) ถูกฟ้องคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือทุจริตต่อหน้าที่

ข้อ 60/2 การวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ 60/1 ให้วินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตทุกประเภทได้ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษได้รับทราบคำวินิจฉัย หากล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว การสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการวินิจฉัยยกเลิกการพักใช้ใบอนุญาต ทั้งนี้ ให้คำวินิจฉัยยกเลิกการพักใช้ใบอนุญาต มีผลย้อนหลังนับถัดจากวันที่ครบกำหนดในคำวินิจฉัย

ข้อ 60/3 ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ 60/1 อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการคุรุสภาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัย

ข้อ 60/4 เมื่อได้มีการพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ 60/1 ถ้าภายหลังผลการสืบสวนหรือสอบสวนปรากฏว่าผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาผู้นั้น ไม่มีพฤติกรรมประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ให้คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยยกเลิกการพักใช้ใบอนุญาตทันที”

ประกาศ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานกรรมการคุรุสภา

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button