สพฐ.ปูพรมมุ่งดูแลน.ร.ยากจนทั่วปท. ผุดระบบคัดกรอง-นำร่อง10จว.เกาะติดจัดงบฯ
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ (ระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน) ผ่านระบบ เทเลคอนเฟอเรนซ์ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักเรียนในการดูแลอยู่ 7,500,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีฐานะยากจนถึง 3,500,000 คน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 2,400,000 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1,200,000 คน ขณะที่สพฐ.จัดสรรงบประมาณดูแลได้เพียง 2,500,000,000 บาท ซึ่งดูแลเด็กได้เพียง 1,600,000 คน ดังนั้น โครงการนี้จะช่วยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และส่วนกลาง มีข้อมูลในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา สพฐ.ใช้รูปแบบการเฉลี่ยงบประมาณในสัดส่วนคงที่ จึงทำให้การจัดสรรเงินช่วยเหลือไม่ทั่วถึงและไม่ตรงเป้าหมาย เพราะขาดข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงของผู้เรียน ดังนั้นระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์นี้จะช่วยให้โรงเรียนนำร่องของสพฐ. 5,086 โรง เด็กและเยาวชน 492,431 คน ครอบคลุมสพท. 40 เขต ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี ตรัง และภูเก็ต มีระบบติดตามนักเรียนที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ สพฐ.จะเก็บข้อมูลคัดกรองนักเรียนยากจนเพื่อขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดต่อไป
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ด้านรศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์นี้เกิดจากข้อเสนอโครงการวิจัย “บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2551-2556” ที่สพฐ.ร่วมมือกับมธ. และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยได้น.ส.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เข้ามาร่วมพัฒนาระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นหลักประกันในการได้รับเงินอุดหนุนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มา : ข่าวสด