ประจานไทย!! ผล PISA ประจานไทยเหลวทุกด้าน ซัด’บิ๊กศธ.’บิดประเด็น-ซุกปัญหา
หนังสือพิมพ์มติชนได้นำเสนอข่าว ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้พูดถึงประเด็นของ PISA ว่าไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีโครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Students Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD หรือองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ประกาศผล PISA 2015 อย่างเป็นทางการ โดยมีประเทศเข้าร่วมการทดสอบ 72 ประเทศ และกลุ่มเศรษฐกิจ เป็นการทดสอบวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ในเด็กอายุ 15 ปี ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่าน อันดับที่ 57 และคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54) โดยมีผลการทดสอบลดลงจากการสอบเมื่อปี 2012 ในทุกวิชา ขณะที่เวียดนามมีผลคะแนน PISA ขยับขึ้นมาในอันดับ 8 ของโลกนั้นว่า อันดับ PISA ไทยตกตามเคย ตกชนิดที่เรียกว่าไม่เงย ตกซ้ำซาก ไม่มีแนวโน้มดีขึ้น จัดอันดับกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตกอย่างนี้ทุกครั้ง สะท้อนว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำไม่สำเร็จ ต่างจากประเทศอื่นที่ปฏิรูปการศึกษาแล้วดีขึ้น ตนมองว่าเดดล็อกที่ทำให้การศึกษาไทยเดินหน้าไม่ได้ มีดังนี้ 1.ศธ.กำหนดนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติในลักษณะรวมศูนย์ และเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ใช้วิธีนำร่อง ทำแผนและคู่มือ และเมื่อนโยบายลงไปสู่ฝ่ายปฏิบัติ เป็นไปอย่างสะเปะสะปะ และฝ่ายปฏิบัติปฏิบัติตามที่ตัวเองเข้าใจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เคยวิจัยพบว่า นโยบายจากบนลงล่างและวิธีการปฏิบัติดังกล่าวตลอดระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมาล้มเหลว แต่ ศธ.ก็ยังยึดรูปแบบนี้ในการปฏิรูป 2.ข้อสอบ PISA มีลักษณะเป็นสากลและเป็นนานาชาติ สะท้อนผลผลิตที่จะออกมาต้องเป็นคนที่มีความคิดวิเคราะห์เป็น มีความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องกล้าตัดสินใจกับสถานการณ์ที่มีอยู่ อย่างข้อสอบ PISA ที่ลองดาวน์โหลดมาจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พบว่าเป็นข้อสอบที่ท้าทาย สอนการคิด แต่การเรียนการสอนตลอดจนการวัดผลของไทยกลับตัดองค์ประกอบดังกล่าวทิ้งหมด การเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ข้อสอบล้าหลัง ไม่ทันสถานการณ์ ฉะนั้น สสวท. สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
“ศธ.แถลงข่าวหาข้ออ้างที่ไม่ใช่เหตุผลหลัก ไปโทษปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเข้าไม่ถึงไอซีทีของเด็กในพื้นที่ห่างไกล ทั้งที่เป็นปัญหาปลีกย่อย แต่เหตุผลหลักคือระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ทำให้ครูสอนได้เต็มที่ เด็กได้รับผลประโยชน์ต่ำสุดในระบบการศึกษา งานสอนกลายเป็นงานชั่วคราว ขณะที่ประเทศเวียดนามมีงานวิจัยพบว่า ครู ภาคเอกชน และงบประมาณ ทุ่มลงไปที่เด็กเต็มที่ แต่เรากลับไม่เห็นภาพนั้นในบ้านเรา” นายสมพงษ์กล่าว
อาจารย์คณะครุศาสตร์กล่าวต่อว่า 3.การสอบ PISA ครั้งนี้มีการติวเข้มซึ่งถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ แทนที่จะแก้ไขโดยสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น คิดสร้างสรรค์เป็น แต่กลับใช้วิชามารด้วยการติวเข้มเพื่อทำให้ประเทศรอดพ้นจากความขายหน้า เรื่องสะเต็มศึกษาที่ต้องสอนแบบบูรณาการวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กลับสอนแยกกัน เมื่อขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ก็เอาครูที่จบวุฒิอื่นมาสอนแทน การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ก็สอนแบบแล็บแห้ง ฯลฯ 4.หลักสูตรที่ใช้อยู่ จัดทำเมื่อปี พ.ศ.2544 ปรับปรุง พ.ศ.2551 เท่ากับใช้มาแล้ว 15 ปี เนื้อหาตกยุค เนื้อหาแน่น ส่วนครูก็สอนไม่เต็มที่ เราต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตร สสวท.ซึ่งรับผิดชอบด้านเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต้องทำงานให้หนักกว่านี้หลายเท่า ส่วน ศธ.นอกจากจะไม่ลด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แล้ว ยังจะไปเพิ่มเนื้อหาประวัติศาสตร์อีก เด็กเรียนหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง แต่กลับไม่ได้ดี กลับทำให้แย่ลง ทำให้เด็กเฉา ผู้บริหาร ศธ.แทนที่จะนำเสนอปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่กลับเกรงใจข้าราชการ รายงานไม่ตรงประเด็น เช่นเดียวกับ สทศ.ต้องยกเครื่อง เลิกใช้ตัวเลขมาทำให้ตัวเองมีอำนาจ แต่กลับไม่มีผลต่อการศึกษาเลย ต้องปรับวิธีการวัดผล และ 5.เรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ซึ่งเป็นแกนหลักของประเทศที่จะนำพาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่สิ่งที่จะตอบโจทย์ทั้ง 3 เรื่อง ไม่มี ตนไม่เห็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรม มีแต่ทำให้เลวร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะการติวเข้มข้อสอบ PISA เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากความขายหน้า ซึ่งที่สุดนอกจากจะไม่ช่วยแล้ว ยังทำให้แย่ลง เป็นการประจานประเทศ เป็นวิธีการที่ไม่ดีต่อการปฏิรูปการศึกษาหรือไทยแลนด์ 4.0 เลย
Admin: นอกจาก PISA แล้วยังมี O-NET NT และอีกหลายๆการสอบและการเรียน ที่ ศธ. ยัดเนื้อหาลงไปเป็นอย่างมากทั้งๆที่บอกว่าจะลดวิชาเรียน ซึ่งในข่าวนี้ท่านอาจารย์พูดได้ตรงประเด็นมากๆครับ
ที่มา : มติชน