ข่าวการศึกษา

ทำความรู้จักกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

หลายคนคงรู้จักท่าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  ในตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในคราวที่ พลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่เมื่อ พลเอกดาว์พงษ์ ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี เมื่อ วันที่ 6 ธันวาคม 2559 ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ว่างลง ในคราวนั้นก็มีกระแสข่าวมาว่าทั้ง พลเอกสุรเชษฐ์  ชัยวงศ์ นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ต่างก็เป็นแคนดิเดตที่เป็นรัฐมนตรี รายต่อไป  จนกระทั่งล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 16 ธันวาคม 2559 สื่อหลายแห่งก็ได้เผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง เผยแพร่ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ตามเนื้อข่าวนี้ ราชกิจจาฯ แต่งตั้ง รมต.และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  จึงทำให้โผแคนดิเดตไม่พลิก  ก็ยังคงเป็นคนใน ครม. เดิม ขยับขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ  นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้นั่งตำแหน่งเจ้ากระทรวงศึกษาธิการไป และยังปรับเปลี่ยน หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล จากสำนักนายกฯ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ  ทีนี้หลายคนก็สงสัยว่า หมอ จะเข้าใจการศึกษาหรือเปล่า จะนำพากระทรวงศึกษาธิการไปทางใด ทำไม ? จึงไม่เอาสายวิชาชีพครูหรือคนที่คร่ำหวอดกับการศึกษา มาเป็นเจ้ากระทรวง วันนี้จึงขอนำประวัติส่วนตัวคร่าวๆของท่าน รมว.ศึกษาธิการคนใหม่มาให้เพื่อนครูได้ทราบพอเป็นสังเขป  ดังนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ประวัติส่วนตัว

– คู่สมรส ทันตแพทย์หญิง สุภาพร เจริญเศรษฐศิลป์

ประวัติการศึกษา

– แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– สถาบันจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน แผนกจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

ประวัติการทำงาน

– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2559)
– รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2558 – 15 ธันวาคม 2559)
– ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
– คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Superboard)
– ด้านการแพทย์ เป็นคนไทยที่ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal College of Psychiatrists) ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นจิตแพทย์เด็กอาวุโสที่เมือง Colchester
– อาจารย์กิตติมศักดิ์อาวุโส UCL และ Royal Free Medical School มหาวิทยาลัยลอนดอน
– อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม) พ.ศ.2535
– รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้านการศึกษา

– ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ
– ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนตัวอย่างในการพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรม
– การศึกษาอิทธิผลของโรงเรียนต่อพัฒนาการเด็ก
– ผลงานหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา
– ทำงานด้านการศึกษาร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่น สสค., Cambridge English Language Assessment เป็นต้น

ด้านอื่นๆ

– เขียนหนังสือเรื่อง “ความฉลาดทางด้านจริยธรรมและศีลธรรม (MQ)”

เท่านี้อาจจะยังทำให้ท่านทั้งหลาย ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้จักดีพอ  นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558  ตามลิ้งค์นี้ http://www.matichon.co.th/daily/view_newsonline.php?newsid=1441590773&sectionid=0133  ดังนี้

รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.ได้อย่างไร?

“ผมทำงานด้านการศึกษามาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี ได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไสกับ นายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ต้องการให้เป็นโรงเรียนตัวอย่างในการพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรม จากนั้นได้ทุนไปเรียนประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต่อมาทางประเทศอังกฤษเชิญไปดำรงตำแหน่งจิตแพทย์เด็กอาวุโสที่เมือง โคลเชสเตอร์ (Colchester) และเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์อาวุโส ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London-UCL) และ โรยัล ฟรี เมดิคัล สคูล (Royal Free Medical School) มหาวิทยาลัยลอนดอน ในระหว่างอยู่ประเทศอังกฤษ ได้ดูแลโรงเรียนสัตยาไสอยู่ พร้อมทั้งได้ทำวิจัยเรื่องอิทธิพลของโรงเรียนต่อพัฒนาการเด็ก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสฯ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ว่า 1.ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู 2.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกันแต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กเรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนเรียนช้ากว่า 3.ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี

ทำให้ทางองคมนตรีได้พยายามขยายพระราชกระแสนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อขยายงานในเรื่องนี้ พร้อมทั้งชักชวนผมกลับมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา

ทำงานให้กับมูลนิธิฯ ได้เพียงประมาณ 5 เดือน เกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ขณะนั้น ชักชวนผมมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ.

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาเชิญให้ช่วยกันทำงานใน ครม. ชุดใหม่ ผมได้ตอบตกลง เรื่องราวมีเพียงเท่านี้ ตรงไปตรงมา ไม่มีการวิ่งเต้น ไม่มีใครฝากฝัง และผมจะยอมเป็นเด็กฝากไหม?

เป็นนักการศึกษาที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงการนักวิชาการ?

“แล้วคำว่านักการศึกษาคืออะไร คือคนจบครูใช่หรือไม่ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านักการศึกษาบนโลกนี้ การมีคนกล่าวหาว่าไม่ค่อยมีใครรู้จัก น่าจะหมายถึงไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปมากกว่า

เพราะคนในวงการแพทย์และวงการการศึกษาต่างก็รู้จักผม เพียงแค่ไม่ได้เป็นคนดังแบบดาราเท่านั้น จากการเข้ามาใน ศธ. แล้วไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ไม่มีอคติในการทำงาน พิจารณาทุกเรื่องด้วยความยุติธรรมจากนี้ให้ดูกันที่ผลงานต่อไป

แนวทางการบริหารงานด้านการศึกษา จะเน้นการวางรากฐานการศึกษาที่ดีตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เห็นว่าพระราชกระแสฯ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรจะเป็นหัวใจของการศึกษา

จึงเป็นนโยบายข้อแรกของ ศธ.ให้ครูอยากสอนเด็กและให้เด็กอยากเรียน การยกระดับภาษาอังกฤษ มีการเชิญมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มาวิเคราะห์โครงสร้างและหลักสูตรของการศึกษาภาษาอังกฤษทั้งด้านนักเรียนและครู

การคัดสรรครูที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เพื่อคัดเลือกครูให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งสานต่อโครงการคุรุทายาท โครงการของพระเจ้าอยู่หัวนักการศึกษาทุกคนเห็นพ้องว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริงในวงการศึกษาทุกระดับ

การประเมินเด็กนักเรียน ต้องประเมินขณะเกิดขึ้นในห้องเรียน และต้องมีอัตนัยด้วย เริ่มตั้งแต่เด็กในระดับประถมศึกษา

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้ให้คำแนะนำดีๆ ในช่วงผมดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ.ไว้หลายเรื่อง ผมจะสานต่อโครงการต่างๆ อย่างแน่นอน อาทิ โครงการให้ทุนกับครูอาชีวะในอนาคต เป็นต้น ยังไม่เคยเห็นว่ามีเรื่องไหนผิดพลาด เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรจะไปรื้อแม้แต่นิดเดียว มีแต่จะทำต่อและทำเพิ่มในเรื่องที่ท่านทำค้างไว้อยู่”

มีแนวคิดเรื่องลดเวลาเรียนอย่างไร?

“นโยบายการลดเวลาเรียนของ พล.อ.ประยุทธ์ มีวัตถุประสงค์ในการลดเวลาเรียนแบบนั่งเฉยๆ ในห้องเรียนแล้วให้ครูบอกหรือนั่งท่องจำ

ผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบตรงจุด เวลา 2 ชั่วโมงที่เหลือจากการเรียนวิชาการแล้วให้เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ไม่ได้ปล่อยเด็กกลับบ้าน เป็นการจัดการเรียนการสอนใหม่ อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้เรียนรู้อยู่แต่ในตำรา สอดคล้องกับงานที่ผมอยากทำ คือ ต้องการให้หลักสูตรสมัยใหม่รู้ไม่ต้องเยอะ แต่ให้รู้ลึกและให้รู้อย่างมั่นคง เรียนรู้ตามหลักสูตรในแก่นเรื่องที่เหมาะสมตามวัย

นายกฯ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเราต้องช่วยกัน ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้จะเปลี่ยนตอนไหน”

คงพอที่จะทำให้ครูเราได้รู้จักเจ้ากระทรวงกันมากขึ้น ส่วนผลงานอนาคตจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วางตัวคนได้ถูกกับงานหรือไม่  จะสามารถนำพาครูก้าวผ่านความยากลำบากในการปฏิรูปการศึกษาไปได้อย่างไร เราคงจะได้รู้กันไม่นาน

อ้างอิง : http://www.moe.go.th/websm/minister/minister_teerakiat.htm
:  http://www.matichon.co.th/daily/view_newsonline.php?newsid=1441590773&sectionid=0133

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button