ข่าวการศึกษา

รมว.ศธ.ให้นโยบาย ผอ.สพท.ทั่วประเทศ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟัง

1482750952683

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพบปะกับ ผอ.สพป./สพม.ทั้ง 225 เขตในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มอบนโยบายเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยมีนโยบายหลักที่เป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • น้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัด

จากการที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีนั้น พระองค์ทรงขอให้ผู้บริหารทุกคนสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะพระราชปณิธานของพระองค์ท่านถือเป็นพรอันสูงสุด รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะน้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ใส่เกล้าฯ และมอบเป็นนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่หน่วยงานในสังกัดต่อไป

สำหรับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีใจความสำคัญว่า “การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education)”

ในส่วนของการสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระองค์ทรงเฝ้ามองการศึกษาไทย พระองค์ได้ทรงมีแนวพระราชกระแสฯ ที่ได้ทรงพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับนักเรียน ครู และการศึกษา และเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ต่อการพัฒนาการศึกษาไทย ดังนี้

1) นักเรียน

  • “ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ เช่น คนเรียนเก่งช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง มิใช่สอนให้เด็กคิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อน เพื่อให้คนเก่งได้ลำดับดี ๆ เช่น สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง” (11 มิ.ย.2555)
  • “ครูไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาก แต่ต้องมุ่งปลูกฝังความดีให้นักเรียนชั้นต้น  ต้องอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดี เด็กโตก็ต้องทำเช่นกัน” (6 มิ.ย.2555)
  • “เราต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะมากขึ้น จะได้มีความสามัคคีรู้จักดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความรู้และประสบการณ์แก่กัน” (5 ก.ค.2555)
  • “ทำเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเป็นคนดี นักเรียนรักครู ครูรักนักเรียน” (9 ก.ค.2555)

ในบรรดานโยบายปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด มีนโยบายเพียงส่วนน้อยที่จะคิดถึงเด็ก กระทรวงศึกษาธิการจึงให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนอย่างมาก โดยต้องการเห็นเด็กตื่นขึ้นมาอยากไปโรงเรียน สนุกกับการเรียน เด็กอยากเรียน และครูอยากสอน อีกทั้งมุ่งเน้นให้เด็กทำกิจกรรมกลุ่มหรือเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Tutoring) ตัวอย่างเช่น นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่สามารถให้มุ่งเน้นการทำกิจกรรมกลุ่มได้ หรือหากครูสอนไม่ทันในชั่วโมงเรียน สามารถนำเนื้อหามาสอนเสริมในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ได้ แต่ขอให้ปรับรูปแบบการเรียนการสอน ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องเรียน โดยต้องกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะเรียน (Active Learn) และครูกระตือรือร้นที่จะสอน (Active Teach)

2) ครู

  • “เรื่องครูมีความสำคัญไม่น้อยกว่านักเรียน ปัญหาหนึ่ง คือ การขาดครู เพราะจำนวนไม่พอและครูย้ายบ่อย ดังนั้น ก่อนคัดเลือกเด็กที่จะพัฒนาต้องพัฒนาครูก่อน ให้พร้อมที่จะสอนเด็กให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงจะต้องคัดเลือกครูและพัฒนาครู ต้องตั้งฐานะในสังคมของครูให้เหมาะสม และปลูกจิตสำนึกโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการคือ การให้ทุนและอบรม กล่าวคือ ต้องมีความรู้ทางวิชาการในสาขาที่เหมาะสมที่จะสอน ต้องอบรมวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นครูที่แท้จริง คือ มีความรักความเมตตาต่อเด็ก ควรเป็นครูท้องที่เพื่อจะได้มีความผูกพันและคิดที่จะพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดของตน ไม่คิดย้ายไปย้ายมา” (11 มิ.ย.2555)
  • “ต้องปรับปรุงครู…ครูจะอายุ 40-50 ปี ก็ต้องเรียนใหม่ ต้องปฏิวัติครูอย่างจริงจัง” (6 มิ.ย.2555)
  • “ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหารเพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน  ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” (5 ก.ค.2555)
  • “ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมดแต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชา ก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม” (5 ก.ค.2555)

กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของครู นอกจากจะดูแลเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว ผู้บริหารต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ครูย้ายบ่อย เพราะจากงานวิจัยพบว่าการย้ายของครูเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำร้ายเด็กนักเรียนดังนั้น สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน กคศ.) ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ จะมีการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลื่อนวิทยฐานะของครู เนื่องจากที่ผ่านมามีครูที่สอนดีและอยู่กับเด็ก แต่ไม่ได้รับผลตอบแทนเพราะไม่ได้ทำผลงานทางวิชาการ โดยโรงเรียนจะใช้เกณฑ์การทำวิทยานิพนธ์หรือทำวิจัยแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะบริบทของมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะให้ความสำคัญกับปริมาณการสอนของครู กล่าวคือ ครูที่สอนมากควรได้รับการเลื่อนวิทยฐานะ ไม่ใช้หลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะจากการทำผลงานเหมือนวิทยานิพนธ์ที่ทำให้เกิดกรณีจ้างคนอื่นทำ อีกทั้งครูที่ขยันสอนควรได้รับรางวัลด้วยการประเมินเชิงคุณภาพจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก และการประเมินเชิงปริมาณคือ การนับจำนวนชั่วโมงสอนของครู ซึ่งครูอาจจะสอนเพิ่ม สอนเสริม หรือไปช่วยสอนในวิชาอื่นก็ได้ แต่ผู้ที่ได้รับวิทยฐานะไปแล้ว ก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะไม่ยกเลิกวิทยฐานะ เพียงแต่ปรับหลักเกณฑ์ให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นคือ “คนสอนดี สอนมีคุณภาพ ควรได้รับรางวัล แต่หากคนที่สอนดีได้รับวิทยาฐานะแล้ว กลับไม่ขยันสอนหนังสือเช่นเดิม ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร”

  • การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

นอกจากการน้อมนำแนวพระราชกระแสฯ ด้านการศึกษา และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ใส่เกล้าฯ และเป็นนโยบายด้านการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ

โดยมียุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่จะดำเนินการ 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในเรื่อง ความมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ ประเทศชาติจะมั่นคงได้ต้องสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งการสร้างความสามารถทางการแข่งขันนั้นต้องมีพื้นฐานมาจาก การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์แล้วอาจจะทำให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนเก่งและคนไม่เก่ง ทำให้ต้องคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศด้วย และเมื่อมนุษย์เติบโตขึ้นการเติบโตนั้นอาจกระทบกับ สิ่งแวดล้อม เราจึงต้องคำนึงถึงการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการมีหลากหลายโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง นโยบายโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น และสุดท้ายคือ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการในลักษณะของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีทุกท่านมีภารกิจและหน่วยงานที่รับผิดชอบ สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยคำนึงถึงความถนัด ดังนี้

  • นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ รับผิดชอบงานในภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์ 3 การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  • พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ รับผิดชอบงานในภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ความมั่นคง
  • ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ รับผิดชอบงานในภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ 6 การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

จากนี้ไปแนวทางการดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการจะอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ทุกโครงการต้องเน้นความโปร่งใส และ Anti-Corruption

261259-3

ศธ.ยุคนี้จะโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์ และ Anti-Corruption

  • “…ท่านต้องห้ามไม่ให้มีการทุจริตขึ้น แล้วท่านจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอที่มีประสิทธิภาพ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง แช่งให้มีอันเป็น พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไปถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจในธรรม ขอให้ต่ออายุได้ถึงร้อยปี หรือถ้าอายุมากแล้วก็แข็งแรง ประเทศไทยจะรอดพ้นอันตรายอย่างมาก” พระราชดำรัสโอวาทพระราชทานแด่คณะผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการ (8 ต.ค. 2546)

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การคอร์รัปชัน (Corruption) มีมานานแล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการในยุคนี้จะเน้นเรื่องความโปร่งใส และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption) ซึ่งจะเป็นยุคที่กระทรวงศึกษาธิการมีความโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์ จะไม่มีใต้โต๊ะ หลังโต๊ะ หลังบ้าน ตามน้ำใด ๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่าจะไม่มีการนำชื่อหรือทีมงานของรัฐมนตรีทั้งสามท่านไปแอบอ้างเพื่อขอรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น หากพบว่ามีใครแอบอ้างก็ขอให้ส่งข้อมูลมาที่กระทรวงศึกษาธิการได้ทันที

สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องการสร้างเด็กให้โตขึ้นมา เกลียดการโกง หรือเติบโตขึ้นมากับความไม่โกง โดยให้ยึดหลัก “โตให้กลัว เล็กให้เกลียด” กล่าวคือ ปลูกฝังให้ผู้ใหญ่กลัวความผิดจากการโกง และให้เด็กเล็กเกลียดการโกง จะได้ไม่กระทำการสิ่งใดที่เป็นการทุจริต

  • เตรียมพัฒนาโรงเรียน ICU ทั่วประเทศ ตามแนวทาง School Improvement Project

ในระยะเวลาการทำงานที่เหลือตาม Roadmap ของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการจะเน้นการปฏิรูปห้องเรียนและพร้อมทำงานที่เป็น “รูปธรรม” อย่างแท้จริง โดยโครงการที่สำคัญคือ จะให้ สพฐ. คัดเลือกโรงเรียนที่มีสภาพแย่ที่สุดหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่เป็น ICU ในทุกภูมิภาคและทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะต้องไม่ใช่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐกว่า 7,000 แห่ง เพราะโรงเรียนเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้โรงเรียน ICU เหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนในด้านต่าง ๆ ตามที่โรงเรียนเหล่านั้นขาดแคลน อีกทั้งนโยบายนี้จะทำให้รู้ว่าโรงเรียน ICU นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดอะไรบ้าง เพื่อที่ กศจ. จะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาได้อย่างตรงจุด

สำหรับการคัดเลือกโรงเรียน ICU นั้น ในจำนวนโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่าโรงเรียน 10,000 แห่ง เป็นห้องเรียนที่ดีอยู่แล้ว เช่น เป็นโรงเรียนระดับ World Class, โรงเรียนประชารัฐ เป็นต้น โรงเรียนอีก 10,000 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับกลาง ส่วนโรงเรียนที่เหลืออีก 10,000 แห่ง เป็นโรงเรียน ICU และอยู่ในสภาพที่แย่ เช่น ครูไม่พอ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เด็กติดยาเสพติด เด็กออกกลางคัน มีปัญหาด้าน IT เป็นต้น หากไม่ดูแลโรงเรียน ICU เหล่านี้ การศึกษาชาติจะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ

ในเบื้องต้นจะทำการคัดเลือกโรงเรียน ICU จำนวน 3,000 แห่ง โดยจะพิจารณาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจก่อน โดย สพฐ. ต้องร่วมพิจารณาคัดเลือกโรงเรียน ICU ด้วยในกรณีที่โรงเรียนนั้นมีสภาพที่เข้าข่ายโรงเรียน ICU แต่ไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะเปรียบเสมือนกับการมีโรงพยาบาลที่มีเตียง ICU จำนวน 3,000 เตียง โดย สพฐ. จะทำหน้าที่เสมือนเจ้าของโรงพยาบาล

เมื่อได้โรงเรียน ICU แล้ว ผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูในโรงเรียนต้องร่วมกันวินิจฉัยปัญหาของโรงเรียน จากนั้นจัดทำแผนการรักษาจากทุกภาคส่วน ซึ่งผู้บริหาร สพฐ. ต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาโรงเรียน ICU ด้วย เมื่อมีแผนแล้วจะระดมแก้ปัญหาภายใน 1 ภาคเรียน หากโรงเรียนใดได้รับการพัฒนาจนพ้นจากโรงเรียน ICU แล้วก็สามารถออกจากเตียง ICU ได้ โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาที่สามารถนำโรงเรียนออกจากเตียง ICU ได้ จะได้รับการเลื่อนขั้นตามความดีความชอบอย่างเหมาะสม และถือเป็นเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาความก้าวหน้าในสายงานอีกอันหนึ่งด้วย

ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการศึกษาได้ เพราะเรานำหลักเกณฑ์เดียวมาใช้กับโรงเรียนทุกแห่ง (One Size Fits All) รวมทั้งผู้บริหารไม่ได้ลงไปดูอย่างจริงจัง และในกรณีของโรงเรียน ICU จะได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งนโยบายนี้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแท้จริง เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับโรงเรียนในเมือง ถึงเวลาแล้วที่จะหันมาให้ความสนใจกับคนที่ยากจน โดยการลงพื้นที่สำรวจปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อทำการสอบถาม พูดคุย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยไม่เกิดการต่อต้านจากชุมชนด้วย เพราะเราสามารถระบุปัญหาของโรงเรียนเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนว่าทำไมต้องทำการยุบรวม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการพยายามทำให้นโยบายต่าง ๆ เป็นรูปธรรมชัดเจน และขอให้ทุกคนรู้หน้าที่ตนเอง ตื่นเช้าขึ้นมาให้คิดว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง สำหรับคนที่ดีอยู่แล้วเราจะไม่เข้าไปยุ่ง แต่เราต้องการดูแลคนที่มีปัญหาจริง ๆ ทั้งยังขอยืนยันว่าจะขอเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดคนสุดท้าย เพราะจะเน้นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ให้มากที่สุด และในนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียน ICU นี้ จะเป็นแนวทางเดียวกับการแก้ไขปัญหาสถานศึกษาของอาชีวศึกษาด้วย โดยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เข้าร่วมรับฟังนโยบายในครั้งนี้เช่นกันด้วย

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป / รายงาน
จิรายุทธ คามขุนทด
: ถ่ายภาพ
ขอบคุณภาพถ่ายเพิ่มเติม: ETVmac

26/12/2559

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button