ศธ.นำเด็กและเยาวชนดีเด่นฯ เข้าพบนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเด็กและเยาวชนดีเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ จำนวน 781 คน เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2560
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
นายกรัฐมนตรี กล่าวมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า เด็ก เยาวชน และลูกหลานทุกคน คือผู้ขับเคลื่อนประเทศไทย และคำขวัญที่ได้มอบให้เด็กและเยาวชน “เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” ก็เพื่อให้ทุกคนได้คำนึงถึงประเทศชาติด้วย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการในฐานะทำหน้าที่ผลิตและจัดการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา ตลอดจนระดับอุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งตามยุทธศาสตร์ในช่วงปี 2559-2560 เป็นระยะของการเตรียมการเปรียบเสมือนการหว่านพืชหวังผลเก็บเกี่ยว ก็คือการสร้างเด็กและเยาวชนที่มีความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติเพื่อขับเคลื่อนประเทศในปี 2561 ตามแผนแม่บทของรัฐบาลต่อไป
ในส่วนของเด็กและเยาวชน ขอให้ช่วยคิดในชั้นเรียน คิดอย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการคิดในระยะยาวเพื่อพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ในสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีที่วันหนึ่ง ๆ คิดเป็นร้อยเรื่องเพราะปัญหาประเทศมีจำนวนมาก และต้องบริหารประเทศอย่างไรเพื่อให้คนไทยกว่า 70 ล้านคนอยู่อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีจากการอ่านหนังสือ จึงขอฝากให้เด็ก ๆ แบ่งเวลาเพื่ออ่านหนังสือให้มากขึ้น เพราะจะทำให้เกิดกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง และเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีกว่าการอ่านจากสื่ออินเทอร์เน็ตหรือ Youtube ซึ่งสื่อสารข้อความสั้น ๆ เพียง 3-4 บรรทัด ไม่ช่วยสื่อถึงความเป็นมาเป็นไปในเรื่องนั้น ๆ
ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี ควรใช้ประโยชน์ในการค้นหาความรู้และถ่ายทอดความรู้สู่คนในครอบครัว ไม่ควรใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว และไม่ควรจะเชื่อทุกเรื่องที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ควรต้องวิเคราะห์ก่อนที่จะเชื่อเรื่องใด ส่วนในเรื่องของภาษาอังกฤษ ควรปรับการเรียนการสอนโดยเน้นฝึกพูดประโยคสนทนาที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น และเด็ก ๆ ไม่ต้องอายที่จะสื่อสารกับชาวต่างชาติ เพราะเขาพยายามที่จะเข้าใจเราอยู่แล้ว
โดยส่วนตัว เชื่อมั่นว่าการศึกษาของไทยไม่ได้ล้มเหลว และแม้ที่ผ่านมาจะเปลี่ยนรัฐมนตรีมาหลายคนก็ไม่กระทบมาก เพราะทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการ แผนงาน และเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งย้ำตลอดว่าให้สอนเด็กให้มีความรู้คู่คุณธรรม และผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ผลิตคนโดยดูความต้องการของตลาดเป็นที่ตั้ง ประสานและหาข้อมูลความต้องการจากกระทรวงแรงงาน เพื่อผลิตให้เพียงพอและตรงกับสาขาที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยเพื่อรองรับการขับเคลื่อน Thailand 4.0, วิศวกรด้านต่าง ๆ รองรับการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศ เป็นต้น
ในส่วนของครูผู้สอน การอบรมครูที่ดำเนินการขณะนี้ อาจยังไม่ทันการณ์ ขอให้หาแนวทางปรับวิธีสอนของครูให้ดีขึ้น หรือนำครูที่มีชื่อเสียงมาสอนผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต้องพัฒนาขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนกับครูที่เก่งเหมือน ๆ กัน นอกจากนี้ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเพิ่มข้อสอบเป็นคะแนนเสริมใน 2 ส่วน คือ 1) ข้อสอบเชิงคุณธรรมจริยธรรม 2) ข้อสอบเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วย ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวฝากให้ผู้ที่ได้รับรางวัลมีความภาคภูมิใจในตนเอง และเป็นแบบอย่างให้เยาวชนและประเทศชาติ พร้อมทั้งช่วยกันทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นด้วยตัวของเราเองด้วย
จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบโล่รางวัลให้แก่เด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกจากทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 781 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) เด็กและเยาวชนดีเด่น จำนวน 552 คน ซึ่งคัดเลือกจากความประพฤติดี เรียนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด กตัญญูช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง และอุทิศตนเพื่อส่วน
2) เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ จำนวน 229 คน แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ 93 คน, ด้านศิลปะและดนตรี 50 คน, ด้านคุณธรรมจริยธรรม 23 คน, ด้านกีฬาและนันทนาการ 43 คน และด้านทักษะฝีมือ วิชาชีพ 20 คน
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวให้โอวาทมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดงานวันเด็กและการนำเด็กและเยาวชนดีเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้กระทำความดีในด้านต่างๆ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชนในอนาคต และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนเอง ตลอดจนปลูกฝังให้มีส่วนร่วมในสังคม เป็นกำลังสำคัญของชาติ ตามคำขวัญวันเด็ก ประจำปี 2560 ที่ว่า “เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง”
กระทรวงศึกษาธิการ ได้พยายามที่จะขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยในส่วนของการศึกษามีความเกี่ยวข้องใน 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะขออธิบายสรุปอย่างง่าย คือ
1) ด้านความมั่นคง ที่จะต้องส่งเสริมและสอนให้นักเรียนรู้ความเป็นมาของตนเอง รู้ประวัติศาสตร์ของชาติไทย สนับสนุนและช่วยเหลือการศึกษาในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความพร้อมทุกด้านมากขึ้น
2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการสร้างศักยภาพเด็กไทยในเวทีนานาชาติ เช่น การเพิ่มทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษางานวิจัย การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การค้าขายกับต่างชาติ, การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์, การยกระดับอาชีวศึกษาให้เป็นมืออาชีพ เป็นต้น
3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ คือการทำให้เด็กเก่ง โดยเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา ที่จะต้องให้ได้เรียนกับครูที่ดีและเก่ง เพื่อหวังให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามเป้าหมายและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะนี้ยังมีเด็กอีกกว่า 7 ล้านคน ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นเด็กยากจน และไม่ได้มีโอกาสเท่ากับทุกคนที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้ ที่เปรียบเสมือนโรงเรียน ICU กว่า 10,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้มีห้องเรียนที่เพียงพอ มีครูครบชั้น มีโรงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบครัน
5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม การดำเนินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ข้างต้นทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการปรับปรุงการทำงานของภาครัฐไปพร้อมกันด้วย และย้ำว่าต้องการให้เด็กทุกคนมีความฝัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำพาเด็กไปสู่ความฝันให้ได้ ดังเช่นคำที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ว่า “Education Pass” ที่จะทำให้การศึกษานำพาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบจากรัฐบาลให้เร่งดำเนินการให้เด็กมีโอกาสได้เรียนกับครูที่เก่ง ๆ ครูที่ดี ๆ อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ จึงเตรียมการที่จะเชิญครูในสังกัดและครูจากภายนอกที่เก่งในแต่ละสาขาวิชามาช่วยสอน เช่น ครูพี่แนน ครูอุ๊ ครูสมศรี ครูลิลลี่ เป็นต้น โดยจะจัดทำในรูปแบบคลิปวีดิทัศน์เผยแพร่ในคลังความรู้ของกระทรวงศึกษาธิการและทางสื่ออินเทอร์เน็ต ตลอดจนผลิตเป็นซีดีสื่อการสอนส่งให้กับโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกลให้ได้เรียนรู้กับครูเก่งอย่างทั่วถึงมากขึ้น
สิ่งสุดท้ายที่ต้องการฝากไว้กับเด็กและเยาวชนคือ ขอให้อ่านหนังสือให้มาก ๆ เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง ๆ หรือคนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อ่านมาก ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้ว่าบรรพบุรุษได้คิดและสร้างอะไรไว้แล้วบ้าง แต่ก็ขอให้อ่านให้ถูก ไม่ควรอ่านเฉพาะข้อความสั้น ๆ ที่ส่งต่อมาทางไลน์หรือทางสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น เพราะสื่อเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เราเรียนรู้ได้ดีเท่ากับการอ่านหนังสือ สิ่งสำคัญคือ ขอให้ทุกคนขยันและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ ดังคำที่ว่า “Work Hard Be Nice”
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ