ข่าวการศึกษา

การสอบวัดผลการศึกษา ของสิงคโปร์ ไม่สะท้อนคุณค่าแท้ของระบบการศึกษา

ดำรง ลีนานุรักษ์
ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาพอสมควร หลังผลการสอบวัดผลระดับโลกที่มีชื่อย่อว่า PISA ที่จัดดำเนินการใน 72 ประเทศ โดย OECD ที่ไทยเราได้ผลลำดับที่ห้าสิบกว่าใน 3 วิชา แถมรับกันไม่ได้ที่เวียดนามพุ่งไปในอันดับต้นๆ แล้วชี้นิ้วกันไปมาว่าเราด้อยกว่าเขาเพราะผิดตรงโน้นตรงนี้ ร้อนถึงผู้บริหารระดับนโยบายบางท่านจะลงทุนเอางบประมาณใส่เข้าไปเพื่อเพิ่มอันดับให้ได้ แบบว่าฉันขายหน้า ว่างั้นเถอะ
บทความนี้มีเจตนาที่จะสื่อให้เห็นว่า ที่สิงคโปร์นำพุ่งเรื่องการศึกษา เพราะพื้นฐานค่านิยมเอาตัวรอดและต้องเอาชนะที่เป็นแรงขับของปัจเจก พิจารณาในแง่ชาวพุทธ นี่คือความหลงผิด เอากิเลสเป็นแรงขับในการดำรงชีวิตของปัจเจก ที่หลอมรวมเป็นพฤติกรรมร่วมของสังคมที่จะสร้างปัญหามากขึ้นในอนาคต ดังนั้นจุดหลักที่อยากจะสื่อถึงคนไทยเราคือ อันดับใน PISA ก็แค่นั้นแหละ มี webblog ชาวสิงคโปร์วิเคราะห์ไว้ว่า มันจะน่าภูมิใจอะไรกันหนักหนากับลำดับนำต้นๆ ของการสอบ PISA เพราะในกลุ่มนำนั้น ญี่ปุ่นก็อยู่ในกลุ่ม แถมในอดีตเคยเป็นเบอร์หนึ่งด้วยซ้ำไป แต่เห็นไหมญี่ปุ่นยังตกอยู่ในกับดักของความชะงักงันทางเศรษฐกิจมากว่าสองศตวรรษแล้ว อีกทั้งญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายในสัดส่วนต่อประชากรที่สูงที่สุดในโลก ประเทศที่นำอื่นๆ ก็มีกิเลสเป็นแรงขับคล้ายๆ สิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม และเพื่อที่จะสรุปบอกว่าปล่อยเขาไปเถอะ ที่เขาไล่ล่ากันนั้นเป็นคุณค่าเทียมของระบบการศึกษา เราเองมีของดี แต่กลับไม่สำเหนียก กลับอยู่แบบอิจฉาเขา แล้วตัวเองกลับใกล้เกลือกินด่าง  ค่านิยม KIASU กับความสำเร็จในการพัฒนาประเทศสิงคโปร์
ความจริงรัฐบาลสิงคโปร์เองที่ผลักดันให้ระบบการศึกษาของเขาให้เป็นเอก โดยวางระบบแบบตะวันตก ตั้งแต่เริ่มประเทศโดยนายลี กวน ยู และต้องยอมรับว่าที่มาถึงวันนี้ได้เพราะแรงขับของวัฒนธรรม หรือที่ถูกต้องน่าจะเรียกว่าค่านิยม นั่นคือค่านิยม KIASU ที่มาจากภาษาจีนฮากก้า ที่ภาษาแต้จิ๋วว่าเกียซู ที่แปลว่า กลัวจะแพ้เขา หรือกลัวจะไม่ได้ที่ต้องการเพราะคนอื่นเก่งกว่า ถ้าเราลองไปถามอากู๋ (กูเกิล) ดูจะพบว่า ค่านิยม KIASU กับชาวสิงคโปร์นี้เหมือนจะเป็นอันเดียวกัน ความจริงค่านิยมนี้น่าจะฝังตัวในประชากรของสิงคโปร์เชื้อสายจีนที่มีอยู่มากกว่า 70% ของประเทศนั้นส่งทอดมาจากประเทศจีน แรงขับนี้ทำให้ชาวสิงคโปร์มุมานะที่จะเอาชนะ ทั้งความยากจน ระดับการศึกษาต่ำในอดีต และขาดทรัพยากรธรรมชาติ สร้างชาติมาเป็นลำดับที่เห็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ ก็ว่ากันว่าเป็นผลจากการพัฒนาการศึกษา OECD ที่ทำเรื่อง PISA ได้ทำรายงานเชิงวิจัยมาฉบับหนึ่งที่เปรียบเทียบพัฒนาการของระบบการศึกษาของอเมริกากับหลายๆ ประเทศ หนึ่งบทในรายงานเป็นรายงานการพัฒนาการของระบบการศึกษาของสิงคโปร์อย่างละเอียด ไล่ตั้งแต่ต้นยุคสร้างประเทศใหม่ๆ จนโดดเด่นเชิดชูกันที่เป็นที่หนึ่งในการวัดผลการสอบระดับโลก นำอเมริกาและยุโรป ที่นักบริหารการศึกษาควรอ่านศึกษา (ดู
http://www.oecd.org/countries/singapore/46581101.pdf)
อย่างไรก็ตาม รายงานของ OECD นี้วิเคราะห์การพัฒนาการระบบการศึกษาของสิงคโปร์เชิงวิชาการจริงๆ โดยไม่เอ่ยถึงเรื่องค่านิยม KIASU เลย ทั้งๆ ที่นี่คือแรงขับที่ทำให้สิงคโปร์มีวันนี้ ทั้งเศรษฐกิจและการศึกษา แต่ในสังคมก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในแง่ลบของค่านิยมเกียซู ที่มีผลต่อการหล่อหลอมเยาวชนให้เป็นคน ต้องเอาชนะ ต้องเด่น ต้องนำ ที่นำมาสู่การแก่งแย่งชิงดีกัน ทำงานเป็นทีมไม่เป็น ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งได้รับข้อมูลจากการวิจัยสอบถามบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศ ถึงคุณสมบัติของเยาวชนที่เข้าสู่งาน
สิ่งที่สะท้อนออกมาพบว่า คนสิงคโปร์เรียนเก่ง แต่ชอบชิงดีชิงเด่น และทำงานเป็นทีมไม่ได้ดี
ข้อผิดพลาดในระบบการศึกษาของสิงคโปร์รัฐบาลสิงคโปร์ได้กลับมาวิเคราะห์ตัวเอง แล้วพบว่า น่าจะมีอะไรผิดพลาดในระบบการศึกษาของเขา เพราะเขายอมรับว่าค่านิยมเกียซูของเขาที่ทำให้ภาครัฐวางระบบการสอบเป็นตัวหลักเน้นให้นักเรียนแข่งกันเรียน ที่มีการสอบที่สำคัญที่สุดครั้งแรกในชีวิตเด็กประถม คือสอบไล่กลางเพื่อจบระดับประถม คะแนนสอบตรงนี้สำคัญมาก เพราะมันชี้อนาคตเด็กเลยว่าจะได้เข้าเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนที่เด่นๆ ได้ไหม ผู้ปกครองก็คาดหวังว่าลูกๆ ของเขาต้องสอบได้อันดับที่ดีที่สุดของชั้นเรียน เพราะฉะนั้นเด็กนักเรียนสิงคโปร์ต้องไปเรียนพิเศษ ไปเรียนติว ติวเก็งข้อสอบไล่กลางเพื่อจบชั้นประถม เด็กนักเรียนสิงคโปร์จึงเริ่มเครียดตั้งแต่ชั้นประถม ที่ต้องไปเรียนกวดวิชา พ่อแม่ต้องจ่ายค่ากวดวิชาเดือนละหลายร้อยถึงเป็นพันเหรียญ ทุกวันนี้ในประชากรประมาณ 5 ล้านคนกว่า ธุรกิจกวดวิชามีมูลค่าปีละร่วมหนึ่งพันล้านเหรียญอเมริกา หรือสามหมื่นกว่าล้านบาท
สิ่งที่เขาพบอีกอย่างคือผลในแง่ลบของการผลักดันให้เด็กแข่งกันเรียน นั่นคือ เมื่อเด็กใช้เวลาเรียนท่องบ่นหนังสือมากต่อวัน เด็กจะมีเวลาน้อยลงที่จะผ่อนคลาย รื่นเริงกับประสบการณ์ด้านอื่นๆ เช่น เล่น ออกกำลังกาย ฟังดนตรี มีสุนทรียภาพกับงานศิลปะ ฯลฯ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนในห้องเรียน ที่เขาพบว่าช่วงเวลาที่ผ่อนคลายไม่เครียดนี้ มีผลสูงต่อการปลูกฝังให้เด็กมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นคุณสมบัติที่จะเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมที่เป็นหัวใจของสังคม 4.0 แม้ที่ผ่านมาเขาพยายามลดเวลาเรียนในห้องเรียนให้น้อยลง แต่เวลาที่เหลือเพิ่มขึ้นนั้นกลับถูกเติมเต็มไปด้วยการกวดวิชาและคร่ำเคร่งกับการดูตำราเก็งข้อสอบโดยการกำกับของพ่อแม่เกียซู
ว่าไปแล้วระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาตามแบบตะวันตก มีการทำแผนเชิงกลยุทธ์มาตลอด ในการทำแผนนี้ มีรูปแบบที่เหมือนๆ กันอย่างหนึ่งคือ จะเริ่มต้นด้วยการทำการระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วหาเป้าหมายร่วม ไล่ไปจนถึงผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการจากการศึกษา จากนั้นก็จะไปแจกแจงกันต่อว่า ในผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการกี่ข้อนั้นจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง อย่างไร ฯลฯ ถ้าเราเข้าไปในเว็บไซต์ของกระทรวงการศึกษาของสิงคโปร์ ในหน้าว่าด้วยระบบการศึกษาของเขา (
https://www.moe.gov.sg/education/education-system/desired-outcomes-of-education) จะมีบทต้นๆ ว่าด้วย “ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการจากการศึกษา หรือ DESIRED OUTCOMES OF EDUCATION” จะพบว่า สิ่งที่คาดหวังหลักๆ คือ ผู้ผ่านระบบการศึกษา จะต้องเป็น
-ผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเอง (a confident person) ที่จะมีวิจารณญาณชี้ผิดชี้ถูกได้ มีความสามารถปรับตัวได้สูงและมีความอดทนสูง รู้จักตัวเอง มีความคิดอ่านอิสระและเฉียบแหลม อีกทั้งสามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี
-เป็นคนที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (a self-directed learner)
-เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์งานที่ดี (an active contributor) ทำงานเป็นทีมได้ดี มีความคิดริเริ่ม มีความกล้าที่จะเสี่ยงอย่างมีเหตุผล มีความคิดเชิงนวัตกรรม และหวังผลเลิศ
-เป็นประชากรที่มีจิตสำนึก (a concerned citizen) ที่ถูกปลูกฝังความเป็นสิงคโปร์ มีจิตสำนึกความเป็นประชาคมสูง รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และมีบทบาทสูงในการทำให้ชีวิตของคนที่มาเกี่ยวข้องรอบข้างดีขึ้น
จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติที่เขาคาดหวังว่าคนที่ผ่านระบบการศึกษาของเขาแล้วจะได้จะเป็นจะมีในหลายๆ คุณลักษณะนั้น กระบวนการศึกษาที่วางไว้กลับไม่ได้มีกระบวนการเสริมสร้างหรือบ่มเพาะให้คุณสมบัติที่คาดหวังเกิดขึ้นมาได้ แต่อย่างน้อยในหลายปีที่ผ่านมานี้เขาได้ยอมรับในเรื่องคุณภาพคนที่ต่ำลงในสายตาของบริษัทใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้น และได้ปรับแผนการศึกษาที่จะลดบทบาทของการสอบไล่กลางของการจบชั้นประถมให้เด็กเครียดน้อยลง และหวังว่าเด็กจะแข่งกันน้อยลง โดยการค่อยๆ เลิกการประกาศคะแนนดิบที่ไล่เรียงอันดับกันได้ ให้มาเป็นการจัดกลุ่มคะแนนเป็น 8 ระดับที่รวมเป็นเกรดสูงสุด 4 โดยวิธีนี้จะไม่มีการลำดับคะแนนรายตัวที่หนึ่ง สอง สาม….. แต่จะออกมาเป็นกลุ่มๆ แทน รัฐบาลเพิ่งเริ่มกับเด็กนักเรียนที่เข้าประถม 1 ในปีที่ผ่านมา ในปี 2021 เมื่อเด็กชุดนี้จบชั้นประถม 6 ก็จะเป็นปีแรกที่คะแนนจะถูกประกาศเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่ม 3.6-4 กลุ่ม 3.1-3.5 เป็นต้น โดยรัฐบาลหวังว่าจะทำให้เด็กมีความเครียดจากการแข่งขันชิงที่ 1 น้อยลง และมีความสุขต่อการเรียน
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ยังมิได้มีผลให้ความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์จากการศึกษาใน 4 กลุ่มข้างต้นจะได้รับจริง หรือแม้ที่จะทำให้เด็กมีความสุขต่อการเรียนหนังสือ ทั้งนี้ เพราะยังไม่ได้รับการปรับแก้ในหลักสูตร หรือกระบวนการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างหรือบ่มเพาะคุณสมบัติที่คาดหวังนั้นแต่ประการใดเลย ซึ่งการที่จะบ่มเพาะเรื่องในระดับคุณสมบัติของจิตใจต้องมีกระบวนการศึกษาที่ตรงลงไปที่คุณค่าแท้ของการศึกษา
คุณค่าแท้ของการศึกษาคุณค่าแท้ของการศึกษานั้นต้องมี
กระบวนการที่เป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผล ออกมาเป็นการพัฒนาตัวคนในระดับจิตใจ ไม่ใช่แค่เรียนวิชาที่นำไปสู่การใช้เพื่อทำมาหากิน ปรากฏว่าหลักการนี้กลับเป็นเรื่องที่สอนกันมาในพระไตรปิฏก และตัวหลักของพระพุทธศาสนาก็คือ “การศึกษา ที่ใช้ภาษาบาลีว่าสิกขา” ดังที่ได้อธิบาย สอน เทศนามาอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบัน (ดู ธรรมกับการศึกษาของไทย ; ปาฐกถาธรรม ในวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 30 ปี ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2530 โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ “การศึกษาแนวพุทธ”)
กรอบที่ท่านบรรยายมาในหนังสือการศึกษาแนวพุทธเล่มเล็กๆ รวม 51 หน้านี้คงย่อมาเขียนได้ไม่ครบถ้วนเท่าที่จะได้อ่านศึกษากันเอง แต่จะได้ยกข้อความบางส่วนของท่าน (พิมพ์เป็นตัวเอียง) ออกมาชี้เป็นประเด็น เพื่ออธิบายเปรียบเทียบกับข้อปัญหาของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่กล่าวถึงข้างต้นบางส่วน
ค่านิยม วัฒนธรรม : ผลและเหตุในการศึกษา
“……..ค่านิยมเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรม เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคน แล้วก็จะเป็นการบันดาลชะตากรรมของสังคมได้ด้วย ฉะนั้น ค่านิยมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่มาก และในเมื่อมีผลต่อชีวิตของคนและต่อสังคม ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพราะค่านิยมเข้ามาหล่อหลอม บันดาลชีวิตและพฤติกรรมของคนดังที่กล่าวมา เมื่อการศึกษาเอาใจใส่คน ก็ต้องเอาใจใส่ต่อค่านิยมด้วย การที่เราจะปล่อยให้ค่านิยมมากำหนดวิถีชีวิตของคน กำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม โดยปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องตามราว โดยไม่มีการควบคุมดูแลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าการศึกษาปล่อยในสิ่งเหล่านี้ การศึกษาก็ได้ชื่อว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบถ้วน การที่จะทำหน้าที่ของการศึกษาให้ถูกต้องก็คือ การเป็นฝ่ายกำหนด ควบคุมค่านิยม หมายความว่า การศึกษาจะต้องเอาใจใส่ในค่านิยมนี้ และเป็นผู้ควบคุมวางแผน พยายามที่จะผันแปร หันเห นำทางค่านิยมของสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีมีประโยชน์ และเอื้อต่อกันกับการศึกษา”…….
จะเห็นได้ว่าค่านิยม KIASU ของสิงคโปร์ ที่เป็นแรงขับระดับสังคมและปัจเจก ที่หล่อหลอมระบบการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม คือรากปัญหาใหญ่ในระดับเหตุ ที่ส่งเป็นผลในปัจจุบัน ที่ทำให้คุณสมบัติของเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่ถูกปลูกฝังโดยและเป็น KIASU ต่อไป และคุณสมบัติในทางลบนี้ที่สวนทางกับผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการจากการศึกษา ที่ทางกระทรวงศึกษาของสิงคโปร์วางไว้ดังกล่าวข้างต้น
โดยย่อเนื้อหาที่ท่านกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ พอจะยกเป็นหัวข้อสำคัญๆ ได้ดังนี้
-บุพภาคแห่งการศึกษาที่ประกอบด้วย ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ ที่ถ้าตั้งใจอ่านอย่างวินิจวิเคราะห์ จะเห็นความลุ่มลึกของสิ่งที่พระพุทธองค์จัดวางเรื่องนี้ อย่างที่ตะวันตกไม่เคยเข้าถึงหลักนี้
-ความคลาดเคลื่อนในวัฒนธรรมที่เอามานะที่เป็นกิเลสเป็นตัวเร้าให้เรียนหรือทำดี ทำให้เห็นแก่ตัว ให้ความสำคัญกับตัวเอง ที่เบี่ยงเบนให้ผลการจัดการศึกษาลู่ออกไปในทางลบ
-การสร้างให้มีฉันทะแทนมานะ ฉันทะ ฉันทะทำให้คนเพียรพยายาม เพราะต้องการธรรม เห็นแก่ธรรม ให้ความสำคัญแก่ธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ฉันทะ ในที่นี้ หมายถึงฉันทะในธรรม เรียกเต็มว่า ธรรมฉันทะ หมายถึงความรักธรรม ความปรารถนาใฝ่ใจในความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เราจะต้องเร้าฉันทะนี้ให้ขึ้นมาแทนมานะ เร้าให้คนเพียรพยายามเพื่อแสวงหาความรู้และทำการสร้างสรรค์ ทั้งใฝ่ความจริง ใฝ่ปรารถนาต่อความจริง คือใฝ่รู้ ต้องการรู้ และใฝ่ความดีงาม….. การที่เด็กจะมีความสุขจากการเรียนหนังสือได้จะต้องมีฉันทะเป็นแรงขับภายในไม่ใช่มานะ
-ในบทสรุป มรรค 8 และไตรสิกขา คือองค์รวมศึกษาของชีวิต เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในอาการที่สามารถดำรงตนเองให้อยู่รอดด้วยดี อยู่ร่วมด้วยดีกับสังคมโลก และสามารถก้าวออกไปมีส่วนร่วมช่วยสังคมโลก
การปรับประมวลนำหลักการศึกษาแนวพุทธนี้ ให้สอดแทรกเข้าไปอยู่ในบทศึกษาของการศึกษาทั้งพื้นฐานและอุดมศึกษาเป็นเรื่องยากลำบาก ความยากมีมาตั้งแต่ระดับการวางหลักสูตร การสอน และการเรียนของเด็ก ผู้เขียนเองในฐานะอดีตครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านการปศุสัตว์ ได้พยายามนำเอาหลักเรื่องอิทธิบาท 4 เข้ามาสอนเป็นบทที่หนึ่งในวิชาการจัดการฟาร์มโคนม โดยมีชื่อบทว่า การจัดการตนเอง ได้เน้นสอนอธิบายความสำคัญของฉันทะ วิริยะ จิตตะ (มีการฝึกนั่งสมาธิทบทวนสิ่งที่เด็กเกือบทุกคนยอมรับว่าสมัยชั้นเด็กๆ ครูเคยนำนั่งสมาธิในห้องเรียนในระดับประถม มัธยม) วิมังสา ต่อความสำเร็จของการเรียน การทำงาน และชีวิต (ดู
https://www.youtube.com/watch?v=-fR_qOCgfH4) แต่ในร่วมสิบปีที่ทำ สรุปได้ว่า เด็กนักศึกษาส่วนหนึ่งกว่าครึ่งห้องรู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกแยกสำหรับเขา และประสบความสำเร็จจากการดำเนินการในร่วมสิบปีที่ทำมาต่ำมาก ซึ่งเป็นที่คาดหมายอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงเรื่องบุคคล 4 ที่สืบเนื่องกับความพร้อมของอินทรีย์ ที่เป็นองค์ประกอบของความพร้อมที่จะเรียนรู้
เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้วเราก็ดำเนินการสอนไปอย่างมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ก็มีความสุขที่จะสอนต่อไปครับ
–จบ–

          –มติชน ฉบับวันที่ 25 ม.ค. 2560 (กรอบบ่าย)–

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

คัดลอกมาจาก : http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=47366&Key=news_research

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button