ข่าวการศึกษา

ทุจริตการสอบครู ภาพสะท้อนคุณภาพการศึกษาไทย

การสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยในแต่ละปี เป็นการสอบที่มีอัตราการแข่งขันสูงมาก มีตำแหน่งว่างเพียงหลักพันอัตรา ในขณะที่ผู้สมัครสอบมีหลายหมื่นถึงหลักแสนราย เมื่อต้นปี 2556 ข่าวการทุจริตในการสอบครูผู้ช่วยทำให้สังคมตระหนกตกใจกับกรณีดังกล่าว โดยพบว่ามีการโกงอย่างเป็นขบวนการ ทั้งผู้เข้าสอบ ผู้จัดสอบ และยังเกี่ยวพันไปถึงข้าราชการระดับสูงด้วย และเป็นสิ่งที่น่าขบคิดว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่สะสมมานาน ทั้งปัญหาการทุจริต ปัญหาจริยธรรม และคุณภาพของครู จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษาของประเทศอย่างไร

ปัญหาการทุจริตในแวดวงการศึกษาไทยดูจะเป็นปัญหาที่อยู่คู่กันมายาวนาน แม้ภาครัฐ สถานศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะพยายามพัฒนาการศึกษาของไทยควบคู่ไปกับการสร้างเสริมจริยธรรมและแก้ปัญหาการทุจริต แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ข่าวการทุจริตในการสอบครูผู้ช่วยเมื่อต้นปี 2556 ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นขบวนการ และมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้าสอบที่ถูกชี้มูลความผิดฐานทุจริตถึง 344 ราย รวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ถูกตั้งข้อหาว่าขายเฉลยข้อสอบให้แก่ผู้เข้าสอบ และยังเกี่ยวพันกับข้าราชการระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สร้างความผิดหวังให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับคุณภาพของระบบการศึกษาไทย และปัญหาเรื่องจริยธรรมของพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการหล่อหลอมเยาวชนไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติด้วย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

สอบครูผู้ช่วย ขบวนการโกงแบบมโหฬาร
การสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยในแต่ละปีเป็นการสอบที่มีอัตราการแข่งขันสูงมาก โดยมีตำแหน่งว่างเพียงหลักพันอัตรา ในขณะที่ผู้สมัครสอบมีหลายหมื่นถึงหลักแสนราย ในอดีตสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดหลักเกณฑ์ให้การจัดสอบ ออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา ต่อมาสมัยที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้ สพฐ.เป็นหน่วยงานกลางจัดสอบในทุกขั้นตอน ในปีแรก (ปี 2555) สพฐ.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเป็นผู้ออกข้อสอบ-จัดสอบ ซึ่งไม่พบปัญหาการทุจริต
แต่ในปี 2556 สพฐ.ได้ดำเนินการจัดสอบเองทุกขั้นตอน และพบว่ามีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นเมื่อ 20 มีนาคม 2556 กระทรวงศึกษาธิการและกรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกันแถลงข่าว โดยเชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อ 13 มกราคม 2556 ในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายเขตการศึกษา การทุจริตเกิดขึ้นหลายรูปแบบ อาทิ มีบุคคลอื่นเข้าสอบแทน ผู้เข้าสอบได้เฉลยข้อสอบผ่านข้อความ SMS ผู้เข้าสอบนำเครื่องมือสื่อสาร เพื่อส่งสัญญาณเฉลยข้อสอบ และมีการนำคำเฉลยข้อสอบเข้าไปในห้องสอบ เป็นต้น จากการตรวจสอบผลคะแนน พบว่ามีผู้ที่ทำคะแนนสอบได้สูงผิดปกติถึง 486 ราย ในจำนวนผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือก 9,242 ราย จากจำนวนที่สามารถบรรจุได้ 2,161 ราย
ต่อมา คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้พบว่า เฉลยข้อสอบ 4 ชุดวิชา ถูกลักลอบนำไปให้ขบวนการทุจริต และขายให้กับผู้ที่ต้องการสอบบรรจุครูผู้ช่วยในราคา 4-7 แสนบาท โดยมีผู้บริหารบางคนจาก สพฐ.เกี่ยวข้องกับการนำเฉลยข้อสอบออกไปขาย กรมสอบสวนคดีพิเศษมีหลักฐานว่าผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา เป็นผู้เฉลยข้อสอบให้กับผู้ที่ต้องการสอบบรรจุครูผู้ช่วย จำนวน 48 ราย โดยพบหลักฐานเฉลยข้อสอบทั้ง 43 วิชา และบัญชีธนาคารที่มีการโอนเงินเข้าช่วงก่อนสอบและในช่วงสอบไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สำหรับสอบครูผู้ช่วย 344 ราย ที่ถูกชี้มูลว่ากระทำการทุจริตในการสอบ บางรายที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้วต้องถูกให้ออกจากราชการ โดยบางรายได้ขอลาออกจากราชการเอง ส่วนรายที่มีการร้องทุกข์ก็ให้มีการพิจารณาคำร้องทุกข์ตามกระบวนการขั้นตอนให้เสร็จสิ้น

ข้อมูลสถิติมัดตัวคนโกง 344 คน
ในบรรดาผู้เข้าสอบครูผู้ช่วยนับแสนคน สำหรับผู้ที่ไม่มีหลักฐานการทุจริตอย่างชัดแจ้ง ทางกระทรวงศึกษาธิการและกรมสอบสวนคดีพิเศษจะทราบได้อย่างไรว่าผู้เข้าสอบรายใดทำการทุจริตบ้าง ดร.ชอบ ลีซอ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการสอบของผู้เข้าสอบคัดเลือกประจำคณะกรรมการประจำศูนย์ให้คำปรึกษาและติดตามผลการคัดเลือกครูผู้ช่วย กล่าวว่า โดยทั่วไปกราฟคะแนนของผู้เข้าสอบจะอยู่ในรูปโค้งปกติ แต่การสอบครั้งนี้ กราฟช่วงปลายด้านขวาซึ่งเป็นช่วงคะแนนเกิน 90% เส้นกราฟสูงเกินโค้งปกติอย่างชัดเจน คือมีผู้ได้คะแนนเกิน 90% ถึงกว่า 500 คน (ตามหลักสถิติจะมีแค่ 3 คน) ซึ่งโอกาสเกิดกราฟแบบนี้มีน้อยมาก
และในจำนวนผู้ที่ได้คะแนนสูงผิดปกติมี 344 ราย ที่เลือกคำตอบ “ก.” ในข้อ 34 ของข้อสอบฉบับที่ 1 วิชาความรอบรู้ ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด ทั้งที่เป็นคำถามที่ง่าย (ดัชนีความยากของข้อนี้อยู่ที่ 71% คือ ใน 100 คนจะมีคนตอบถูก 71 คน) เนื่องจาก สพฐ.ได้เปลี่ยนข้อสอบข้อที่ 34 ใหม่ โดยข้อสอบข้อนี้เดิม เฉลยข้อ “ก.” แต่ก่อนพิมพ์ข้อสอบกรรมการรายหนึ่งเห็นว่าข้อสอบข้อนี้มีความผิดพลาด จึงเปลี่ยนคำถามใหม่ ทำให้เฉลยข้อสอบเปลี่ยนจาก ข้อ “ก.” เป็นข้อ “ข.” แต่เฉลยข้อสอบที่หลุดออกไปนั้น นำออกไปก่อนจะมีการแก้ไขข้อสอบ 4

ความหละหลวมของระบบการสอบ
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการสอบครูผู้ช่วย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือระบบการจัดการสอบที่หละหลวมทุกขั้นตอน โดยพบว่าข้าราชการของ สพฐ.มีความผิดพลาดในการเก็บรักษาข้อมูลลับในการสอบครูผู้ช่วยหลายขั้นตอน ทุกกระบวนการหละหลวม ทั้งกระบวนการออกข้อสอบ การเก็บตัวผู้ออกข้อสอบ การถ่ายข้อสอบจากเครื่องพีซีมายังคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แต่ไม่มีการระวังดูแลเก็บรักษาโน้ตบุ๊กที่ดีพอ

ทำไมต้องทุจริตสอบครู
อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 ให้สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้สมัครสอบครูจำนวนมากจนก่อให้เกิดการทุจริตสอบครู เพราะครูมีบัญชีเงินเดือน เงินได้อื่นๆ ค่าตอบแทน รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินวิทยฐานะ มีปิดเทอม สวัสดิการ รักษาพยาบาลทั้งคู่สมรส บิดา มารดา ซึ่งดีกว่าข้าราชการอื่นหลายหน่วยงาน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีคนสนใจอยากสอบเข้าเป็นข้าราชการครูจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่โอกาสของลูกหลานจะได้รับราชการ ก็คือเป็นข้าราชการครูและตำรวจ เพราะสองอาชีพนี้ใช้ต้นทุนค่อนข้างต่ำในการส่งลูกเรียนเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ

การทุจริตสอบครูผู้ช่วยกับจริยธรรมในวงการการศึกษา
สวนดุสิตโพลได้เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 82% เห็นว่าข่าว “การทุจริตสอบครูผู้ช่วย” มีผลกระทบต่อ “กระทรวงศึกษาธิการ” มาก เพราะครูคือต้นแบบ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็ก ขณะที่ 27% มองว่าการทุจริตเช่นนี้เกิดขึ้นมานาน และมีอยู่ทุกวงการ/แก้ไขได้ยาก ด้านแนวทางป้องกันหรือแก้ไข 50% ชี้ว่าต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มงวด บทลงโทษชัดเจนและเด็ดขาด ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิด ในขณะที่ 41% มองว่าควรปลูกฝังจิตสำนึก สร้างค่านิยมที่ดีในแวดวงข้าราชการครู
ในขณะที่สังคมไทยมองว่าการทุจริตการสอบครูเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมอย่างมาก แต่ทัศนคติของนิสิตนักศึกษาต่อการทุจริตกลับไม่สะท้อนภาพเช่นนั้น จากผลสำรวจเรื่อง “ทัศนคติของนิสิตนักศึกษาต่อการทุจริตการโกงในการเรียนการสอบ” โดย รศ.พาชิตชนัต ศิริพานิช สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า นิสิตนักศึกษา 16% เคยทุจริตในการสอบ ขณะที่ 30% เคยช่วยเพื่อนทุจริตในการสอบ แต่ที่น่าห่วงมากที่สุดคือ นักศึกษาที่ทุจริต หรือช่วยเพื่อนทุจริต มองว่าการทุจริตไม่ผิดหรือผิดน้อย และนักศึกษาที่เคยช่วยเพื่อนทุจริตทราบว่าการทุจริตเป็นเรื่องร้ายแรง น่าละอาย แต่ก็ยังทำเป็นประจำ ไม่เพียงเรื่องจริยธรรมของนักเรียนนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของสถานศึกษาชั้นนำก็ยังมีข่าวเกี่ยวกับจริยธรรม เช่น กรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำแก้ผลการเรียนให้กับลูกตนเองจำนวน 8 รายวิชา จนถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี เป็นต้น

จากปัญหาทุจริตสอบครู สู่ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย
ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่สะสมมานาน ทั้งปัญหาการทุจริต ปัญหาจริยธรรม และคุณภาพของครู ได้ส่งผลกระทบมายังคุณภาพของการศึกษา แม้ว่าเด็กไทยหลายคนจะมีความสามารถสูง สามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี หรือทางด้านหุ่นยนต์ มาให้คนไทยได้ชื่นชม แต่เมื่อมองภาพการศึกษาโดยรวมพบว่า คุณภาพการศึกษาของไทยกลับรั้งอันดับท้ายๆ ของภูมิภาคอาเซียน
รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ 148 ประเทศ โดย World Economic Forum (WEF) ปี 2013 เปิดเผยว่า คุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษาของไทย (Quality of Primary Education) อยู่อันดับที่ 86 ของโลก ลดลงจากอันดับที่ 82 ในปีก่อน และอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 10 ประเทศอาเซียน นำหน้าเพียงลาว กัมพูชา และเมียนมาร์เท่านั้น ส่วนการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย (Higher education and training) ก็ตกลงมาที่อันดับ 66 จากอันดับที่ 60 ในปีก่อนหน้า และเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียนเท่านั้น นำหน้าก็เพียงฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งสวนทางกับนโยบายการพัฒนาประเทศของไทยที่มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียน

ปัญหาการขาดแคลนครู
นอกจากปัญหาจริยธรรมในการสอบครูผู้ช่วยแล้ว ปัญหาเรื่องมีความรู้เกี่ยวกับวิชาที่ตัวเองสอนไม่เพียงพอ การขาดแคลนครู และปัญหาโรงเรียนไม่สามารถบรรจุครูได้ตรงกับความต้องการ ก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในการสอบคัดเลือกบรรจุครูผู้ช่วยประจำปี 2556 พบว่ามีผู้สอบผ่านเกณฑ์ 60% จำนวนเพียง 1,536 ราย จากจำนวนผู้เข้าสอบ 21,773 ราย หรือมีผู้สอบผ่านเพียง 7% เท่านั้น
นอกจากนี้ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 3 มีผู้สอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เป็นประวัติการณ์ และไม่มีผู้สอบผ่านวิชาเอกคณิตศาสตร์แม้แต่รายเดียว แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของผู้ที่สมัครสอบคัดเลือกที่ไม่เพียงพอต่อการสอบเข้าบรรจุครู ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการพัฒนาการศึกษาที่ไม่มีการวางแผนพัฒนาบุคลากรอย่างเหมาะสม สาเหตุหนึ่งเกิดจากรัฐบาลขาดการเหลียวแลเพื่อพัฒนาในด้านดังกล่าว เนื่องจากนโยบายของรัฐทุ่มไปเพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาขาดแคลน ทำให้การพัฒนาครูขาดความต่อเนื่อง และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล
สำหรับปัญหาการขาดแคลนครูและปัญหาโรงเรียนไม่สามารถบรรจุครูได้ตรงกับความต้องการนั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ภายใน 5 ปีจะมีการขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษาจากการเกษียณอายุราชการถึง 155,225 คน มีการขาดแคลนครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวม 51,462 อัตรา ในสาขาวิชาที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ ซึ่งความขาดแคลนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นเพราะหน่วยงานที่ควบคุมอัตรากำลังคนภาครัฐมีนโยบายลดกำลังคนภาครัฐลง และนโยบายดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับบุคลากรทางการศึกษาด้วย บวกกับมีข้าราชการครูที่เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ขาดครูเพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งนี้การแก้ปัญหาการขาดแคลนครูต้องทำทั้งระบบ
ทั้งการขอคืนอัตราเกษียณ การเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่ครูเกินไปยังโรงเรียนที่ขาดครู การเกลี่ยให้ครูได้สอนตรงตามวิชาเอก รวมทั้งการหาครูใหม่มาทดแทน ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตครูไม่ตรงกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการเพิ่มคนอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมีการนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนให้มากขึ้น และนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาช่วยในการเกลี่ยกำลังคน และการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรอัตรากำลังคนที่เหมาะสม

Source
ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button