ข่าวการศึกษา

ปธ.เครือข่าย ร.ร.เอกชนฉะ ศธ.จัด ‘ประถม-มัธยม’ เหลว จี้ปล่อย ‘เอกชน-มท.’ จัดอนุบาล

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายชิตวร ลีละผลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทองพูน และประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ความสำคัญของกระบวนการปฏิรูปการศึกษากำหนดให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามมาตรา 12 และสอดคล้องกับแนวความคิดของยูเนสโกที่กล่าวว่ารัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนเอกชนในทุกรูปแบบ แต่การศึกษา และการให้บริการของภาครัฐที่ผ่านมา รัฐไม่เคยให้โอกาส และไม่เคยสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งๆ ที่การศึกษาที่ภาครัฐจัดอยู่นั้น ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการศึกษาได้ ปัญหาต่างๆ ที่ภาครัฐพบ และไม่สามารถแก้ไขได้คือ โรงเรียนขาดผู้บริหาร ครูไม่เพียงพอ ครูสอนไม่ตรงกับสายวิชา ครูสอนนักเรียนในจำนวนนักเรียนมากเกินไป ปัญหาทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง สภาพโรงเรียนรกร้างไม่มีการพัฒนา และปัญหาใหญ่ที่การศึกษาภาครัฐกำลังเผชิญคือ จำนวนนักเรียนที่หายไปจากระบบมากมาย

นายชิตวรกล่าวอีกว่า ในการจัดกระบวนการศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องมองด้านการศึกษาว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของตนฝ่ายเดียว ในกระบวนการบริหารจัดการทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ต่างมีระบบการศึกษาที่มีอีกหลายกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบทางการศึกษา เช่น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดูแลสถาบันพละศึกษาและวิทยาลัยพละศึกษา สำนักนายกรัฐมนตรีดูแลการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กระทรวงกลาโหมดูแลการศึกษาด้านพานิชนาวี กระทรวงคมนาคมดูแลด้านการบินพลเรือน และกระทรวงที่สำคัญซึ่งมีบทบาทในการศึกษาระดับท้องถิ่นมากมายคือกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา และการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสำนักพัฒนาการจัดการศึกษาส่วนท้องถิ่นดูแลการศึกษาในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฝ่ายสำนักการศึกษาดูแลมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่ง มท.ปัจจุบันรับผิดชอบการศึกษาเกือบทั้งประเทศ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

“การบริหารการศึกษาของ มท.ในส่วนกลาง ดูได้จากการบริหารจัดการโรงเรียน กทม.ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจนถึงระดับมัธยม รวม 438 แห่ง มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ทั้งรูปแบบสถานที่ที่สวยงาม สภาพแวดล้อมที่ดี การจัดกระบวนการสอน ที่สำคัญที่สุดคือการให้บริการอุปกรณ์การเรียนการสอน เสื้อผ้า กระเป๋า รวมกว่า 20 รายการ ไม่เคยพบปัญหาด้านการศึกษา เป็นการจัดการศึกษาที่ มท.ดำเนินการมาโดยตลอด และในส่วนด้านการพัฒนาจัดการศึกษาส่วนท้องถิ่น มท.มีหน้าที่ดูแลการศึกษาขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเทศบาลในเร็วๆ นี้ และดูแลการศึกษาด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะเห็นว่าการศึกษาของไทยในปัจจุบันนี้ หรืออดีตที่ผ่านมานั้น ศธ.ไม่ได้เป็นกระทรวงเดียวที่จัดการศึกษาของประเทศ” นายชิตวรกล่าว

นายชิตวรกล่าวอีกว่า ดังนั้น เราควรหันมาดูการบริหารจัดการที่ส่วนภูมิภาคในปัจจุบันที่ มท.ดำเนินการมานาน และมีรูปแบบการศึกษาที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายการนำครู และผู้บริหาร ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นมาร่วมจัดการศึกษา ซึ่งคนท้องถิ่นสามารถสอน และให้ความรู้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งตนเองรู้ และสัมผัสมาตลอดชีวิต ตลอดจนปัจจุบันงบประมาณการจัดการศึกษาถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่า แม้กระทั่งการบริการการเรียนการสอนด้านเด็กเล็ก และเด็กอนุบาล ทั้ง อบจ.และ อบต.ได้ศึกษาด้านนี้ด้วยงบฯ ที่ได้มา พัฒนาทั้งสถานที่ที่สวยงาม สะอาด น่าเรียน เพราะการศึกษาด้านนี้จำเป็นต้องให้บริการอย่างทั่วถึง เพราะแบ่งเบาภาระประชาชน ผู้ปกครองในท้องถิ่นได้อย่างมาก และเป็นการคืนนโยบายของนักการเมืองท้องถิ่นที่สัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งต่างกับการบริหารงานของ ศธ.ที่ทำตามนโยบายของรัฐ แต่ไม่ได้ทำเพื่อสนองความต้องการของประชาชน เพราะข้าราชการไม่ได้ถูกเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่เป็นบุคลากรที่มาตามระบบการสอบคัดเลือก

“การศึกษาของประเทศที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่าถ้ามีการวิเคราะห์ด้านการกระจายอำนาจด้านการศึกษาทั้งประเทศนั้น ศธ.ไม่ประสบความสำเร็จในด้านการจัดการศึกษา แต่กลับกลายเป็นหน่วยงานกระทรวงอื่นที่ทำการศึกษาอย่างเข้าถึงประชาชนได้ แต่ ศธ.กำลังออก พ.ร.บ.การศึกษาระดับอนุบาลเพื่อใช้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับ มท.และซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานทำทั้งด้านการจัดการเด็กเล็ก และเด็กอนุบาล ผลที่จะตามมากระทบกับทั้ง 2 หน่วยงาน คือการแย่งกำลังคน การจัดงบฯ ที่ซ้ำซ้อน การสร้างสถานศึกษาที่รัฐต้องใช้งบฯ มาก และเป็นการทำลายระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษาภาคโรงเรียนเอกชน” นายชิตวรกล่าว

นายชิตวรกล่าวอีกว่า คำถามคือรัฐจะลงทุนจัดการเรียนการสอนอนุบาลอีกทำไม ในเมื่อมีหน่วยงานปัจจุบันทำอยู่แล้ว หรือแค่อยากทำเพื่อให้ได้งบฯ เพิ่มขึ้น และอีกคำถามที่ประชาชนสนใจคือ ปัจจุบันการศึกษาภาครัฐตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมปลาย ยังไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ แล้วจะหันมาเริ่มจัดการศึกษาในระดับอนุบาล ซึ่งรัฐจะให้ความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะทำได้สำเร็จ ถ้ามีการจัดการศึกษาระดับอนุบาลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคิดจะทำอย่างจริงจังทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าการบริหารจัดการของภาครัฐกำลังนำงบฯ ของประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะ มท.กำลังพัฒนาบริหารจัดการอยู่ และจะสร้างความเดือดร้อนให้กับโรงเรียนเอกชนที่กำลังจัดการศึกษาด้านอนุบาลทั้งประเทศ

ที่มา : มติชนออนไลน์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button