ข่าวการศึกษา

ทิศทางการปฏิรูปการศึกษากับการปฏิรูปปฐมวัย

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 109/2560
รมว.ศธ.
บรรยาย “ทิศทางการปฏิรูปการศึกษากับการปฏิรูปปฐมวัย”

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปการศึกษากับการปฏิรูปปฐมวัย” ในการสัมมนาการปฏิรูปการจัดการดูแลพัฒนาและจัดการศึกษาปฐมวัยให้มีมาตรฐานและเอกภาพ จัดโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2560 ณ หอประชุมพิบูลสงคราม โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตลอดจนกรรมาธิการฯ เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ทิศทางการปฏิรูปการศึกษากับการปฏิรูปปฐมวัย

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้เริ่มปฏิรูปการศึกษา เมื่อปี 2543 พร้อม ๆ กับการเข้าร่วมการประเมินตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) ซึ่งตลอด 16 ปีที่ผ่านมา คะแนน PISA ของไทยค่อนข้างจะคงที่ และเมื่อนำคะแนนมาวิเคราะห์ก็พบว่า อันดับของเด็กไทยที่เข้ารับการทดสอบยังคงทิ้งห่างจากสิงคโปร์ถึง 5 ชั้นปี รวมทั้งยังพบว่าเด็กที่ติดอันดับสูงสุดของไทย 10% ได้คะแนนเฉลี่ยเกือบ 550 คะแนน ในขณะที่เด็กที่อ่อนที่สุดได้คะแนนเฉลี่ย 350 คะแนน เท่ากับว่าเด็กไทยมีช่วงห่างกันเอง 200 คะแนน และเป็นช่วงห่างมากกว่าไทยกับสิงคโปร์

เมื่อพิจารณาลงไปยังคะแนนของแต่ละกลุ่มโรงเรียนที่เข้ารับการทดสอบ PISA เรียงลำดับจากน้อยไปหามาก ได้แก่ โรงเรียนสังกัด กทม., โรงเรียน อบต./อบจ., โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา, โรงเรียนเอกชน, โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป, โรงเรียนสาธิต และกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์) และมหิดลวิทยานุสรณ์ ทำให้เห็นว่าคะแนนของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาไม่ได้มีคุณภาพต่ำไปกว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป ในขณะเดียวกันโรงเรียนเอกชน กลับเป็นโรงเรียนที่เราจะต้องสนใจดูแลเพิ่มมากขึ้น เพราะจัดการศึกษาให้กับเด็กถึงกว่า 2 ล้านคน รวมทั้งโรงเรียน กทม. ที่มีคะแนนไม่ถึง 400 ด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะมีการปฏิรูปการศึกษาและมีความพยายามในการกระจายอำนาจให้พื้นที่ได้จัดการศึกษาเอง แต่กลับพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กแต่อย่างใด และช่องว่าง (Gap) ของคะแนนก็ไม่มีความแตกต่างกับตอนก่อนปฏิรูปการศึกษา

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม ซึ่งพบว่าเด็กที่จนที่สุดของเวียดนาม กลับติดอันดับคะแนนสูงสุด 25% ของโลกด้วย นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่า “ความยากจนไม่มีผลต่อการเรียนรู้” ซึ่งจะต้องศึกษาหาข้อมูลต่อไปว่า เวียดนามมีเทคนิค วิธีการสอน หรือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียนหนังสือได้อย่างไร ดังนั้น นอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาโดยให้ความสำคัญกับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ตลอดจนผลิตและพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอแล้ว จะต้องหาแนวทางให้ครูผู้สอนอยากสอน และทำให้เด็กอยากเรียนให้ได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีความยากจนหรือขาดโอกาสมาก ๆ หากเราสร้างแรงบันดาลใจหรือทำให้เขาอยากเรียนหนังสือได้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

สำหรับทิศทางการปฏิรูปปฐมวัย จะพัฒนาควบคู่ไปกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาในห้วงแรก ที่จะติดตามการดำเนินงานเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา โดยเน้นกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสมาก ๆ และให้การสนับสนุนโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลเป็นลำดับแรก โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย คือ การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงริเริ่มไว้เมื่อ 30 ปีก่อน เพื่อขยายโอกาสไปให้ถึงเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร ส่วนในเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพความคุ้มค่า และการพัฒนาครูให้เพียงพอก็จะดำเนินการต่อเนื่องไป โดยเฉพาะการผลิตครูปฐมวัยที่จะต้องมีความเข้าใจในความต้องการของเด็กเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งอาจผลิตตามระบบเดิมร่วมกับการสรรหาครูในแนวทางอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้ครอบคลุมทุกคน ต้องมีการระดมพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะเพียงลำพังภาครัฐคงไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดยฝ่ายนโยบายก็จะต้องเร่งวางทิศทางที่ชัดเจน ให้เด็กได้รับโอกาสจริง ๆ โดยเราต้องเป็นฝ่ายเดินไปหาเด็ก ไม่ใช่นั่งรออยู่บนหอคอย ส่วนฝ่ายสนับสนุนก็ต้องมาตกลงแบ่งงานกันตามความถนัด “เพื่อไม่ให้เกิดปรากฎการณ์นางสาวไทย ที่ทุกคนบอกว่ารักเด็ก แต่การบูรณาการเกิดขึ้นในกระดาษ ไม่ได้ทำงานร่วมกันจริง ก็เท่ากับเป็นการรักเด็กแค่เพียงลมปากเท่านั้น”

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวเปิดการสัมมนามีใจความตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญและรัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็กเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการมีเจ้าภาพรับผิดชอบดูแลเด็กเล็กที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดมาใหม่ รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาแล้ว ตลอดจนผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุที่จะต้องได้รับการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย เรียกได้ว่าดูแลกัน “ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน” โดยจะต้องกำหนดกลไกขึ้นมาช่วยเสริม เนื่องจากกลไกในระบบที่มีอยู่อาจจะยังไม่เพียงพอ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมตั้งแต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนไปจนถึงระดับประเทศ จึงจะเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้ตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการในการพัฒนาประเทศต่อไป

ในส่วนของเด็กปฐมวัย จะต้องยึดหลักการพัฒนาเด็กโดยเคารพสิทธิของเด็กทุกคน ครอบคลุมคุณภาพชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอยู่รอดปลอดภัย พัฒนา ปกป้องคุ้มครอง และมีส่วนร่วม โดยวางระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติแบบบูรณาการทุกระดับ ใช้หลักสหวิทยาการ การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเอกภาพ ตลอดจนให้มีกฎหมายว่าด้วยการปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน

ที่มาของข่าว : http://www.moe.go.th/websm/2017/mar/109.html
โดย
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
3/3/2560

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button