ข่าวการศึกษา

ปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรี ความเป็นครูไทย

ประเด็นร้อนในตอนนี้คือการ สมัครสอบครู โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพที่ทำให้กระแสต้านเกิดขึ้นมากมายในช่วงนี้ จนถึงกับทำให้การประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนต์เรื่อง “การศึกษาเพื่อการมีงานทำ” กลายเป็นประเด็นชี้แจงเรื่อง การสอบครูผู้ช่วยไปเสียอีก จนทำให้ท่านรัฐมนตรีถึงกับบอกว่ามีคนล่ารายชื่อเพื่อที่จะปลดท่านจาก รมว.ศธ. แต่ก็มีคนสนับสนุนท่านพร้อมที่จะล่ารายชื่อสนับสนุนท่านได้เป็นล้านคน เช่นเดียวกัน แต่ท่านก็ไม่อยากให้เป็นประเด็นจึงได้พบกันครึ่งทาง

และที่เฟซบุ๊คท่านคณบดี สุรวาท ทองบุ : Surawat Thongbu  ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการสอบครูผู้ช่วยในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า
วันนี้ 31 มีนาคม 2560 ที่ มรภ.สวนสุนันทา ปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรี ความเป็นครูไทย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ผมพยายามจะสื่อให้เข้าใจ ว่า ….

1. เรามาถูกทางแล้ว ครู 5 ปีและการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพียงแต่ จะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ปรับโครงสร้างหลักสูตร ปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะ ผู้เรียนและอาจารย์ผู้สอน สภาพแวดล้อม ทรัพยากรเรียนรู้ ตลอดทั้ง กระบวนการผลิตอย่างยิ่งยวด ในขณะที่หน่วยงานผู้ใช้ครู จะต้องมีแผนความต้องการให้ชัดเจนล่วงหน้า 5 ปี ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ …คุรุสภา..ต้องกำกับ เข้มงวดสำหรับสถาบันนอกลู่ทั้งหลาย

2. คุรุสภามีอายุ กว่า 100 ปี แต่พึ่งทำหน้าที่สภาวิชาชีพเพียง 10 ปี เศษ ๆ เท่านั้น และเริ่มให้ครูเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแทนการประกอบอาชีพ เมื่อปี พ.ศ.2546 และมี 9 มาตรฐานความรู้และมีมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ด้วย เมื่อปี พ.ศ.2549 และพึ่งมาปรับอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2556 เป็น 11 มาตรฐานความรู้ และมีบทเฉพาะกาล 3 ปี หลายสถาบันเพิ่งจะเริ่มใช้ในปี 2560

3. การมีใบอนุญาตฯ ครั้งแรก 2546 จะออกให้ครูทุกคนที่เป็นครู ณ วันนั้น และเริ่มควบคุม กำกับมาตรฐานการผลิตครูในปีการศึกษา 2547 โดยเริ่มเปิดรับผู้เรียน ครู 5 ปี เป็นรุ่นแรก ออกใบอนุญาตฯให้ในปี 2552

4. มีผู้จบ ครู 5 ปี
(เป็นข้อมูลจากการพยากรณ์ (predict) เท่านั้น ห้ามอ้างอิงหรือเผยแพร่)
– รุ่นแรกในปี พ.ศ.2552
– ปี 2552 จบประมาณ 7,000 คน สอบบรรจุเป็นครู สพฐ.ประมาณ 6,000 คน (เป็นข้าราชการครู มาแล้ว 7-8 ปี)
– ปี 2553 ประมาณ 8,500 คน สอบบรรจุเป็นครู สพฐ. ประมาณ 7,000 คน (เป็นข้าราชการครูมาแล้ว 5-6 ปี)
– ปี 2554 ประมาณ 12,000 คน สอบบรรจุเป็นครู สพฐ. ประมาณ 8,000 คน (เป็นข้าราชการครูมาแล้ว 4-5 ปี)
– ปี 2555 ประมาณ 20,000 คน สอบบรรจุเป็นครู สพฐ.ประมาณ 10,000 คน (เป็นข้าราชการครูมาแล้ว 2-3 ปี)
– ปี 2556 ประมาณ 30,000 คน สอบบรรจุเป็นครู สพฐ.ประมาณ 10,000 คน (เป็นข้าราชการครูมาแล้ว 1-2 ปี)
– ปี 2557 ประมาณ 32,000 คน (จบมาแล้ว 2 ปี) สอบบรรจุเป็นครู สพฐ. ประมาณ 10,000 คน (เป็นข้าราชการครูมาแล้ว 1 ปีเศษ)
– 2558 ประมาณ 40,000 คน (จบมาแล้ว 1 ปี) สอบรรจุเมื่อ ส.ค.-ก.ย 59 (บรรจุเป็นข้าราชการครู สพฐ. ประมาณ 10,000 คน ทำงานได้ 1 ภาคเรียน เท่านั้น)
– 2559 ประมาณ 50,000 คน (จบใหม่ ยังไม่ได้เข้าไปในระบบ)
** รวม ๆ แล้ว ครู 5 ปี เข้าไปอยู่ในระบบ สพฐ. ไม่เกิน 100,000 คน และเข้าไปเพียงคนละ 1-8 ปี ตามลำดับ ในขณะที่ สพฐ. มีครูที่ผลิตแบบเดิม อาจจบ 4 ปีหรืออื่น ๆ มีถึง 300 ,000 คน ครู 5 ปี อยู่ในระบบของ สพฐ. จึงมีประมาณเต็มที่ปีนี้เพียง 25 % เริ่มปีแรกที่ 1-2% เท่านั่น
(เป็นข้อมูลจากการพยากรณ์ (predict) เท่านั้น ห้ามอ้างอิงหรือเผยแพร่)

5. การสอบบรรจุ ครูผู้ช่วยตามหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ. บัณฑิตครู สอบผ่าน บางปี ไม่เกิน 10% บางปี เกิน 20% บางเขตพื้นที่ที่ข้อสอบแตกต่างกัน พบว่า บางเขตสอบผ่านมากกว่า 40% บางเขตตก 100% ในขณะที่สำเร็จจากสถาบันเดียวกันและเก่งกว่าด้วยซำ้ ถามว่า ข้อสอบมีมาตรฐานหรือไม่ เกณฑ์การตัดสินปัจจุบัน ต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ทุกภาคและโดยรวม แต่ก่อนหน้านี้ นับแต่รุ่นเรา ๆ ท่าน ๆ ช่วง 30 ปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึง ปี 2550 ก.ค.ศ. กำหนดเกณฑ์ เป็นต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละภาค ส่วนโดยรวมจึงต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ในสมัยนั้นมีผู้สอบผ่านประมาณร้อยละ 10-20 เท่านั้น (ผมจำได้ว่า มีการสอบครู สปจ. จังหวัด มีผู้สมัครประมาณ 2,000 คน มีผู้ผ่านเกณฑ์ขึ้นบัญชีไว้ เพียง 300 กว่าคน คิดเป็น 15% เท่านั้น) ถามว่า บัณฑิตครูสมัยปัจจุบันไม่เก่ง หรืออย่างไร เมื่อพิจารณาคะแนนการสอบของบัณฑิต สาขาอื่น ๆ ที่ไปสอบผ่านเกณฑ์ของ ก.พ. พบว่า ผ่านเพียง 4.46 % ถามว่า บัณฑิตสาขาอื่นเก่งเพียงใด ..?

ดังนั้น จึงมีคำถาม

*** ถามว่า คุณภาพการศึกษาตกต่ำ เป็นเพราะครู 5 ปี เหล่านี้ไม่เก่ง ไม่ดี อย่างนั้นหรือ ? จึงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครู และการรับสมัครครู อย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เอาใครที่จบอะไรก็ได้มาเป็นครู เพราะเราพึ่งเปลี่ยนระบบการผลิตเมื่อปี 2549 และ 2556 แค่นี้เอง

*** ผมยืนยันว่า โดยทั่วไปให้ใช้ครู 5 ปี และให้ทำการศึกษาผลการเข้าไปสอนอีกสักระยะหนึ่ง หากมีความชัดเจนออกมาอย่างไร จึงค่อยเปลี่ยนแนวทาง แต่วันนี้แนวทางนี้ ไม่มีอะไรเสียหาย คือ มาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องปรับปรุง พัฒนาให้เข้มข้น ปรับปรุงเพิ่มเติมปัจจัยการผลิต ทุกด้าน และกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน และมีระบบติดตาม พัฒนาเมื่อไปเป็นครูแล้วด้วย

ส่วนกรณีพิเศษ พื้นที่พิเศษ ดอยภูเขา เกาะแก่ง โรงเรียนเน้นพิเศษ หรือสาขาขาดแคลน อาจใช้ครูที่จบสาขาอื่นได้…..แต่ต้องได้รับการเรียนรู้วิชาชีพและมีมาตรฐานวิชาชีพก่อนไปสอน จะดีกว่าไปสอนทันที จะเป็นการประกันความเสี่ยงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ….การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนี้เป็นการคุ้มครองผู้เรียน….ไม่ใช่คุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพ

** การประกาศ สาขาขาดแคลน ควรมีเกณฑ์ที่ถูกต้อง เป็นธรรมและเหมาะสม 1/2560 ที่ประกาศออกมาหลายสาขาไม่เป็นเช่นนั้น

ขอบคุณบทความของท่าน สุรวาท ทองบุ : Surawat Thongbu

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button