ข่าวการศึกษา

ข้อคิด 8 องค์ประกอบของระบบการศึกษาที่ดี จาก รมว.ศธ.

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม “กล้าก้าว (Growth Mindset) : เติบโตด้วยศรัทธา เติบกล้าด้วยแรงใจ” และบรรยายทางวิชาการในหัวข้อ “Growth Mindset กับการปฏิรูปการศึกษา” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2560 ณ โรงแรมแมนดาริน (สามย่าน) กรุงเทพฯ

โดยได้ฝากข้อคิด 8 องค์ประกอบของระบบการศึกษาที่ดี ที่ช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลก

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ ได้กล่าวถึงหนังสือ “A World-Class Education” เขียนโดย Vivien Stewart ซึ่งระบุถึงองค์ประกอบสามัญของระบบการศึกษาที่ดี 8 ประการ ที่ช่วยขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลก ดังนี้

1) การมีวิสัยทัศน์และภาวะความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง (Vision and Leadership) คือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กล้าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น นายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์

2) การตั้งมาตรฐานระดับสูง (Ambitious Standards) ด้วยการกำหนดมาตรฐานหรือเป้าหมายสูงในทุกเรื่อง เช่น นักเรียน ครู สถานศึกษา หรือแม้แต่หลักสูตร โดยมีความเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายสามารถทำได้

3) ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Commitment to Equity) ต้องมีความมุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในต่างจังหวัดและโรงเรียนในเมืองให้ได้ หากจะเรียนรู้จากประเทศชั้นนำด้านการศึกษา เช่น สิงคโปร์ หรือ ฟินแลนด์ จะต้องไม่มองแค่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน แต่ให้มองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ว่าแต่ละประเทศเริ่มปฏิรูปการศึกษาจากอะไร และทำอย่างไร เพราะการจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จอาจต้องใช้เวลามากถึง 10 ปี

4) การได้มาและการคงไว้ซึ่งครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพ (HighQuality Teachers and Leaders)

5) ความร่วมมือในการทำงานของทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกัน (Alignment and Coherence) การดำเนินงานของทุกภาคส่วนจะต้องมีความสอดคล้องกัน ทั้งผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการประเมิน การจัดทำหลักสูตร และการจัดการ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) จะประสานความร่วมมือกันในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดย สสวท.จะร่วมกับ สพฐ.ในการร่างหลักสูตร เพื่อให้ สพฐ.นำหลักสูตรไปใช้ และ สทศ.จะรับผิดชอบในการออกข้อสอบ

6) การบริหารจัดการที่ดีและการมีความรับผิดชอบ (Management Accountability)

7) การสร้างแรงจูงใจแก่เด็กนักเรียน (Student Motivation) ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก แต่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่หน่วยงาน และบุคลากร

8) การมุ่งเน้นพัฒนาเพื่ออนาคตในระดับโลก (Global and Future Orientation)ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมองโลกในอนาคต มองไปข้างหน้า เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย

อ่านข้อมูลในการ ประชุม “กล้าก้าว (Growth Mindset) : เติบโตด้วยศรัทธา เติบกล้าด้วยแรงใจ” ได้ที่นี่

Growth Mindset กับการปฏิรูปการศึกษา

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button