ข่าวการศึกษา

ทิศทางการขับเคลื่อนงานของสำนักงานศึกษาธิการ 6 ประเด็นสำคัญ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ทิศทางกเตรียมการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดว่าการขับเคลื่อนงานของสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนั้น ขอให้คำนึงถึง 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การบริหารจัดการศึกษาระดับภาคและจังหวัด เป็นการวางแนวทางการบริหารจัดการศึกษา โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก เพื่อกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา และขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) รวมทั้งยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ 20 ปีอีกด้วย
2) การจัดโครงสร้างของสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัด จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ  ซึ่งต้องทำหน้าที่ในนามราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี พร้อมทั้งฝากเรื่องนโยบายสำคัญ เช่น โรงเรียนคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนไทยทุกคน เพราะถือเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้โรงเรียนคุณธรรมเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
3) บทบาทของสำนักงานศึกษาธิการภาค จะทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และการพัฒนาการศึกษาของภาค ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด
4) การบริหารจัดการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีลักษณะของการบริหารราชการที่ผสมผสานระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค มุ่งหวังเพื่อให้การจัดการศึกษาของชาติในระดับจังหวัดมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ในการสนับสนุนการจัดการศึกษา
5) การมีสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัดจะเกิดประโยชน์ ดังนี้
     – มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น  จึงขอให้ความสำคัญในการทำงานประสาน และให้เกียรติในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แวดวงการศึกษา
     – กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่จัดการศึกษาอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
     – กระทรวงศึกษาธิการ จะกระจายอำนาจจากองค์กรหลัก มายังศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดมากขึ้น คือ กระจายงาน งบประมาณ และบุคลากร ซึ่งจะส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลางมีขนาดเล็กลง และเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษา อาชีวศึกษาที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด จะมีความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

6) สิ่งที่ข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการจะพึงปฏิบัติในระดับภาคและจังหวัด

     – จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน คือ ราชการส่วนกลาง ซึ่งมี 1 สำนักนายกรัฐมนตรี และ 19 กระทรวง รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรอิสระต่าง ๆ, ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมี 76 จังหวัด และ 878 อำเภอ, ราชการส่วนท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน) เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

     – มีความเข้าใจในระบบการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด
     – การทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ ในจังหวัด
     – ความเป็นผู้มีธรรมาภิบาลและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในฐานะที่เราทุกคนเป็นเจ้าของกระทรวง จึงต้องช่วยกันทำให้กระทรวงเป็นปึกแผ่น มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในกรอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน ขอให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รับทราบ และฝากให้ช่วยกันสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education) เช่น ความมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น

ที่มา : เตรียมการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button