ข่าวการศึกษา

หารือการปลูกฝังเยาวชนตามแนวคิด STAR STEMS

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 316/2560
หารือการปลูกฝังเยาวชนตามแนวคิด STAR STEMS

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและหารือกับ พล.อ.ดร.พหล สง่าเนตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการเรียนรู้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะ เกี่ยวกับการปลูกฝังเยาวชนตามแนวคิด “STAR STEMS” สร้างพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจไทย ไปสร้างชาติ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกับโครงการโรงเรียนคุณธรรมของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีนายไพโรจน์ อนุรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ว่าที่ ร.ต.ไชยวุฒิ วุฑฒิรักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ให้การต้อนรับคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการเรียนรู้ สปท. ซึ่งได้นำเสนอกระบวนการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างเด็กและเยาวชน ให้เป็นพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจไทย ไปสร้างชาติ ด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด “STAR STEMS” ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

STAR ได้แก่ Student-คนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ, Teacher-กระตุ้นความคิด กระตุ้นจินตนาการ แนะนำ กำกับ, Academic-บูรณาการสาระวิชา ความดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รับผิดชอบ, Revolution-ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยน พลิกผันทันที

STEMS เป็นการเรียนรู้แบบ Situation Based Learning : SbL พร้อมสอดแทรกเรื่องคุณธรรม ความเป็นไทยตลอดเวลา ได้แก่ Scientific Thinking หลักเหตุและผล, Thai-Technology หลักภูมิปัญญาไทย ศาสตร์พระราชา, English-Engineering หลักประสิทธิภาพ ระบบและการสื่อสารภาษาอังกฤษ, Moral-Mathematics หลักพิสูจน์ด้วยหลักตรรกะและคุณธรรม, Socio Geology หลักความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับภูมิสังคม

ซึ่งแนวคิดนี้จะเป็นอีกพลังสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูประบบการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตอบโจทย์การพัฒนาคนไทยได้ตามเป้าหมายของการศึกษาชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 วรรค 4 ที่ระบุไว้ว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย รัก-ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญตามความถนัด รับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความพร้อมสำหรับบูรณาการกับการเรียนการสอนทุกสาระวิชา โครงการพิเศษ ตลอดจนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ โครงการโรงเรียนคุณธรรม ของกระทรวงศึกษาธิการ มีความก้าวหน้าในหลายส่วน ดังนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการใน 2 ส่วน คือ คณะกรรมการดำเนินงานอำนวยการดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านนโยบายในการจัดการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้คู่คุณธรรม พร้อมกำหนดแนวทางการนิเทศติดตาม และให้คำปรึกษาแนะนำ และคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการโรงเรียนคุณธรรม โดยมีผู้แทนองค์กรหลักและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ จัดทำระบบนิเทศและประเมินผล ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการ 70 บุคคลต้นแบบ 7 ล้านความดี เพื่อปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการแก่เด็กและเยาวชน ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณธรรมในปี 2560 จำนวน 10,000 แห่ง และในปลายปีนี้คาดว่าจะขยายผลให้ครอบคลุมโรงเรียนสังกัด สพฐ. อย่างน้อย 30,000 แห่ง, มีครูวิทยากร 135,529 คน, ศึกษานิเทศก์ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 675 คน, ทีมขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด่วนพิเศษ (Express Moral Service: EMS) ระดับภูมิภาค 40 คน, ทีมเคลื่อนที่เร็วโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. (Roving Teams: RT) ระดับเขตตรวจราชการ 225 คน

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนสถานศึกษาคุณธรรมให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งผู้อำนวยการที่บรรจุใหม่ ผู้อำนวยการสถานศึกษารับการประเมินคุณภาพภายใน และรองผู้อำนวยการสถานศึกษาบรรจุใหม่และที่ได้รับคัดเลือก 398 คน เตรียมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพวิทยากรพี่เลี้ยง 40 คน ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิทยากรแกนนำสถานศึกษาคุณธรรมให้แก่ครู ผู้บริหารและบุคลกรอาชีวศึกษา 489 คน และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้นิเทศอาสาติดตามสถานศึกษาคุณธรรม 100 คน

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ดำเนินโครงการค่ายเรียนรู้และเผยแพร่โครงการพระราชดำริ, โครงการเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ในสถาบันอุดมศึกษา, โครงการส่งเสริมคุณธรรมความซื่อตรงของผู้นำนักศึกษา, โครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลังนิสิตนักศึกษา ทั้งนี้มีแผนที่จะ ถอดบทเรียน ความสำเร็จการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยคุณธรรม พร้อมสำรวจความสมัครใจเข้าร่วมโครงการในปีต่อไป

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกเสริมสร้างวินัยในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนารูปแบบกลไกการเสริมสร้างวินัย 4 ด้าน (ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริต การปฏิบัติตามระเบียบ และการมีจิตอาสา เสียสละ) พร้อมคู่มือ เพื่อทดลองใช้ในโรงเรียนตัวอย่างเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีโครงการประเมินความเป็นพลเมืองของนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button