ข่าวการศึกษา

สพฐ. จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่

ที่เฟซบุ๊คของท่าน Wisanu Sapsombat  ผอ.สทศ.สพฐ. ศธ. สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ได้กล่าวถึงการประกันคุณภาพสถานศึกษา ไว้ดังนี้ 

29 มิ.ย.60
“การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาของ สพฐ.ด้วยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการประเมินแก่ผู้บริหารสถานศึกษา”
————————————-
1.กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกของทุกระดับก่อนจะมีการประเมินคุณภาพในรอบต่อไป โดยให้มีการปรับปรุงมาตรฐานที่สะท้อนถึงคุณภาพอย่างแท้จริง เน้นการประเมินสภาพจริงไม่ยุ่งยาก สร้างมาตรฐานระบบการประเมินเพื่อลดภาระการจัดเก็บข้อมูล ลดการจัดทำเอกสารที่ใช้ในการประเมิน ปรับกระบวนทัศน์ในการประเมินที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาบนพื้นฐานบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งให้มีการพัฒนาผู้ประเมินคุณภาพให้มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ สามารถให้คำชี้แนะ ให้คำปรึกษาแก่สถานศึกษาได้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาได้รับการยอมรับจากสถานศึกษา และได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

2.การเปลี่ยนแปลงของระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวข้างต้น เป็นระบบการประเมินแนวใหม่ที่มุ่งเน้นการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในภาพรวม (holistic rubrics) ของการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยไม่แยกส่วนหรือแยกองค์ประกอบในการประเมินผลงานหรือกระบวนการ แต่เป็นการประเมินภาพรวมของผลงานหรือกระบวนการดำเนินงานนั้นๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประเมินของผู้ประเมิน โดยผู้ประเมินต้องศึกษาและรวบรวมข้อมูลในภาพรวมทั้งหมด เป็นการประเมินและตัดสินผลการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยความเชี่ยวชาญ (expert judgment) โดยผู้ประเมินต้องมีความรู้อย่างรอบด้าน อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันในคณะผู้ประเมิน เพื่อการตัดสินระดับคุณภาพ ผู้ประเมินจำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อการประเมินที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น มาตรฐานของผู้ประเมินจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

3.จากข้อเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะปฏิรูปการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้สำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันสร้างมาตรฐานของสถานศึกษาที่มีคุณภาพ (quality codes) และสร้างผู้ประเมินที่มีคุณภาพ (quality inspectors) และเสนอให้หน่วยงานต้นสังกัดให้มีการเตรียมและสนับสนุนสถานศึกษาให้พร้อมรับการประเมิน สื่อสารให้เกิดความเข้าใจในมาตรฐานของสถานศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างความเข้าใจวิธีการประเมิน และการเขียนรายงานการประเมินตนเองแบบใหม่ ให้คำชี้แนะในการจัดการของสถานศึกษา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

4.ปีงบประมาณ 2560 สทศ.สพฐ. ได้รับการอนุมัติแผนการดำเนินงานในงบบูรณาการ “โครงการพัฒนามาตรฐานผู้ประเมินคุณภาพสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรที่จะทำหน้าที่ประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และจากนโยบายการปฏิรูประบบการประเมินฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้เสนอถึงองค์ประกอบของผู้ประเมินว่าควรประกอบด้วยบุคลากรจาก 3 ฝ่าย..ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก (สมศ.) 2) บุคลากรจากสำนักงานศึกษาธิการภาคหรือศึกษาธิการจังหวัด และ 3) ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจากข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวนำไปสู่การดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานในงบบูรณาการ “โครงการพัฒนามาตรฐานผู้ประเมินคุณภาพสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ของ สทศ.สพฐ. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการประเมิน คือ ผู้บริหารสถานศึกษาจากทุกสังกัด และผู้แทนจากเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต้นสังกัดที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรมพลศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่นๆ) เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการประเมินแนวใหม่ และสร้างผู้ประเมินที่มีมาตรฐาน และนำไปสู่การเป็นคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายนอกร่วมกับสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

5. สทศ.สพฐ. จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการประเมินให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาจากทุกสังกัดที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ที่รับผิดชอบการประกันคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตพื้นที่การศึกษา รวมเขตละ 6-12 คน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังถือเป็นกระบวนการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย เพื่อเตรียมผู้ประเมินให้มีความพร้อมในด้านทักษะการประเมินต่างๆ ทั้งในเรื่องทักษะการสังเกต การสัมภาษณ์ การตั้งคำถาม การเขียนรายงานผลการประเมิน รวมทั้งการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่สถานศึกษาที่เป็นรูปธรรมในเชิงพัฒนาที่สถานศึกษาสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้

6.กำหนดการจัดสัมมนาฯ จะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2560 และกำหนดรูปแบบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่มีทั้งการบรรยายให้ความรู้ และการฝึกทำกิจกรรมการประเมินในรูปแบบใหม่ โดยมีทีมวิทยากรคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและชี้แนะในระหว่างการฝึกทำกิจกรรม รวมทั้งทำหน้าที่ในการประเมินผลผู้ร่วมสัมมนาด้วย ซึ่งการสัมมนาจะแบ่งออกเป็น 8 จุดๆ ละ 4 วัน กระจายตามภูมิภาค ดังนี้

6.1 จุดที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 – 19 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี 
6.2 จุดที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี 
6.3 จุดที่ 3 ระหว่างวันที่ 25 – 28 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า จ. สงขลา 
6.4 จุดที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 – 4 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่
6.5 จุดที่ 5 ระหว่างวันที่ 8 – 11 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเทพนคร จ. บุรีรัมย์ 
6.6 จุดที่ 6 ระหว่างวันที่ 15 – 18 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 
6.7 จุดที่ 7 ระหว่างวันที่ 21 – 24 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเอวาน่า เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
6.8 จุดที่ 8 ระหว่างวันที่ 28 – 31 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเวลคัม จอมเทียน บีช พัทยา จ.ชลบุรี

7.การสัมมนาฯ ที่จะเกิดขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาที่จะส่งผลให้การขับเคลื่อนตามนโยบายการปฏิรูปดังกล่าวประสบผลสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย โดย สทศ.สพฐ. จะแจ้งและประสานรายละเอียดการดำเนินงานไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบคุณข่าวสารที่เป็นประโยชน์จาก Wisanu Sapsombat

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button