ร่วมทำ ร่วมคิด ขจัดวิกฤตโรงเรียน ICU
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 350/2560
เฟสสองใช้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมปฏิรูปการศึกษาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ “ร่วมทำ ร่วมคิด ขจัดวิกฤตโรงเรียน ICU” เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560 ณ บริเวณหอประชุมคุรุสภา
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารมาโดยตลอด ในขณะเดียวกันคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “ความเหลื่อมล้ำ คือปัญหาใหญ่ของประเทศ” ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เร่งดำเนินงานตามโครงการที่สำคัญ คือ โครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน” หรือโรงเรียน ICU (Intensive Care Unit)โดยมอบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนที่มีสภาพแย่ที่สุดหรือโรงเรียนที่วิกฤต เพื่อลงไปแก้ไขปัญหาเป็นอันดับแรกก่อน
จากการลงพื้นที่หลายแห่ง พบว่าโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ICU จำนวนมากมีความวิกฤตในหลายด้าน ได้แก่ โรงอาหาร ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน มีสภาพทรุดโทรม หรือใช้พื้นที่ใต้อาคารเรียน/ระเบียงเป็นที่รับประทานอาหาร, ห้องสุขา ไม่เพียงพอ มีสภาพชำรุด สุขภัณฑ์ไม่พร้อมใช้งาน, อาคารเรียน มีสภาพเก่า ทำจากสังกะสี/เพิงแฝก โครงหลังคาผุกันแดดกันฝนไม่ได้ ตลอดจนไม่เพียงพอกับนักเรียน, ลานกีฬา สภาพพื้นสนามไม่พร้อมใช้งาน, ระบบไฟฟ้า โซลาร์เซลล์มีสภาพชำรุด, สื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอ เป็นต้น หากจะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามปกติ คงไม่สามารถช่วยโรงเรียนเหล่านี้ได้ทัน จึงต้องมีนโยบายให้จัดโครงการโรงเรียน ICU เพื่อจัดสรรงบประมาณอื่นเพิ่มเติมเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการด้วย
ขณะนี้เข้าสู่การดำเนินโครงการระยะที่สอง โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,032 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาอย่างฉุกเฉิน 2,259 โรงเรียน, โรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาอย่างเร่งด่วน 1,925 โรงเรียน และโรงเรียนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนา ไม่ฉุกเฉิน 848 โรงเรียน ซึ่งจากการดำเนินการโครงการทั้งสองระยะ พบว่าโรงเรียนสามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาได้ โรงเรียนบางแห่งสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ที่เกิดการบูรณาการงานด้านการศึกษาร่วมกับชุมชน และภาคเอกชนในพื้นที่
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวด้วยว่า งบประมาณในการดำเนินโครงการโรงเรียน ICU ในระยะแรก จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา ส่วนระยะที่สอง ใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท และในอนาคตเพื่อให้การดำเนินโครงการมีความต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2561 จึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือโรงเรียน ICU อีกกว่า 1,000 ล้านบาท
ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ