ข่าวการศึกษา

ผลประชุมองค์กรหลัก 11 กรกฎาคม 2560

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 26/2560 เมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมพันเอกอาทร ชนเห็นชอบ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ในส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

ให้ทุกส่วนราชการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

จากปัญหายางพารามีราคาตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาด อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่สามารถรับซื้อยางพาราทั้งหมดไว้ตามข้อเรียกร้องของชาวสวนยางได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมียางพาราคงเหลืออยู่ในสต๊อก นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ส่วนราชการต่าง ๆ ได้ช่วยสนับสนุนการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น อาทิ การทำถนน การสร้างสนามฟุตซอล หรือใช้สำหรับด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบผู้บริหารองค์กรหลักได้ร่วมประชุมหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 เพื่อสนับสนุนการนำยางพาราที่มีคุณภาพมาใช้ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะส่งผลต่อการพยุงราคายางอีกทางหนึ่ง

 การถ่ายทอดเทคโนโลยีโครงการรถไฟความเร็วสูง
ไปยังสถานศึกษาอาชีวะ-มหาวิทยาลัย ตลอดเส้นทาง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ได้มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 647 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่ออาเซียนเข้ากับจีน โดยระยะแรกจะก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 425 ล้านบาท ภายในเดือนตุลาคม 2560 นายกรัฐมนตรีจึงได้มีดำริให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ประสานงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเชื่อมโยงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับสถาบันการศึกษา ทั้งสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษา ที่ตั้งอยู่ตลอดเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อให้ผู้เรียนของเราได้เรียนรู้เทคโนโลยีระบบรางจากของจริง จากการปฏิบัติงานจริง พร้อมรองรับการทำงานของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนวิชาชีพด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะดำเนินการเช่นนี้ แต่ยังกระจัดกระจายกันอยู่ จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่จะทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเช่นที่ผ่านมา

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button