ข่าวการศึกษา

นพ.ธีระเกียรติ ประชุมหารือเรื่องระบบผลิตครู ร่วมกับ ทปอ.มรภ. 38 แห่ง

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 359/2560
ประชุมกับ ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องระบบผลิตครู ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) 38 แห่ง เมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุม ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เข้าร่วม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการหารือในครั้งนี้ เพื่อต้องการกระตุ้นให้สถาบันผลิตครูทุกแห่ง มีความตื่นตัวและได้กำหนดระบบการผลิตครูอย่างจริงจังโดยผู้ที่อยู่ในวิชาชีพครู ที่จะช่วยพัฒนาและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และสอดคล้องตามพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ที่ทรงเน้นให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นสถาบันหลักในการผลิตครูที่มีคุณภาพ

ในการประชุมครั้งนี้ ได้หยิบยกประเด็นที่คณะกรรมการคุรุสภา เห็นชอบในหลักการตามที่สภาคณบดีคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เสนอให้กลับไปใช้ระบบผลิตครูหลักสูตร 4 ปี โดยได้มีการหารืออย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยบางกลุ่มได้แสดงความเห็นในเรื่องของกระบวนการและใช้ระยะเวลามากเพื่อให้ครูได้รับความรู้ตลอดจนเทคนิคการสอนและประสบการณ์รอบด้าน ในขณะที่บางส่วนเห็นว่าการผลิตครูขึ้นอยู่กับกระบวนการมากกว่าจำนวนปี เช่น โครงการคุรุทายาท ที่มีกระบวนการผลิตครูอย่างเข้มข้นในระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น ส่วนเรื่องของมาตรฐานครูที่ยึดสมรรถนะ (Competency base) เป็นหลักนั้น ทุกคนเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ประกอบกับได้มีการนำเสนอผลการวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในเรื่องการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ว่ามีจุดอ่อนอยู่ที่เนื้อหา ไม่ใช่สมรรถนะ นอกจากนี้ยังทำให้ต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ในขณะที่แต่ละปีก็มีการผลิตครูถึง 50,000 คน โดยมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อคนต่อปี แต่เมื่อนำผลวิจัยมาเทียบเคียงระหว่างผู้จบหลักสูตรครู 5 ปี กับ 4 ปี กลับพบว่ามีคุณลักษณะที่ไม่แตกต่างกันด้วย

ดังนั้น ขณะนี้จึงอาจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากยังมีทั้งกลุ่มที่แน่ใจและไม่แน่ใจว่าระบบใดจะดีกว่ากัน เช่นเดียวกับกรณีตัวอย่างในหลาย ๆ วิชาชีพทั่วโลก หากระบบไม่ลงตัวก็สามารถมีหลายระบบได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วก็ต้องวัดกันที่ผลผลิต วัดที่ผู้จบการศึกษา และเพื่อเปิดโอกาสให้วิชาชีพได้กำหนดระบบผลิตเอง จึงมอบสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สภาคณบดี ตลอดจนนักวิชาการ โดยเร็วที่สุด เพื่อขบคิดพิจารณาระบบผลิตครูที่เหมาะกับบริบทและองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านของเรา

แต่หากตกลงไม่ได้หรือต้องมีการผลิตครู 2 ระบบ ก็จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนทั้งหลักสูตร 5 ปี และ 4 ปี รวมทั้งจะเริ่มใช้ระบบการผลิตใหม่ได้ทันในปีการศึกษา 2561 ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button