ข่าวการศึกษา

ผลประชุมองค์กรหลัก 18 ก.ค.2560

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 27/2560 เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ในส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้

● ให้ทุกหน่วยงานสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้ทุกกระทรวงพยายามสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสาธารณชนในเรื่องสำคัญ ๆ ในมุมมองใหม่ที่เน้นถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ มากกว่าการจะไปบอกว่าเราทำอะไรเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นการสื่อสารแต่สิ่งที่ทำ แต่ไม่ได้เน้นถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ จากการสอบถามพ่อแม่ผู้ปกครอง สิ่งที่สนใจคือเรียนแบบนี้แล้วลูกได้อะไร สอบต่อได้ไหม หรือชุมชนท้องถิ่นจะดีขึ้นได้อย่างไร โดยไม่ได้สนใจถึงยุทธศาสตร์การทำงานเลย

ดังนั้น เพื่อให้งานของกระทรวงศึกษาธิการสามารถสื่อสารไปยังประชาชนและสาธารณชนไม่เป็นนามธรรมจนเกินไป จึงมอบให้ผู้บริหารกระทรวง ผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งเตรียมข้อมูลเพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ต่อสังคมและสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นถึงประโยชน์และสิ่งที่ “เด็ก/ครู/ผู้ปกครอง/ชุมชน จะได้อะไร” จากการดำเนินงานนโยบายสำคัญและส่งผลกระทบสูงต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น

– การพัฒนาข้าราชการครูแนวใหม่ ที่เชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ซึ่งขณะนี้มีครูสมัครลงทะเบียนเข้ารับการอบรมกับสถาบันคุรุพัฒนาแล้วมากกว่า 4 แสนคน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณลงไปยังพื้นที่กว่า 448 ล้านบาท และจะทยอยโอนให้ครบทั้ง 1,000 ล้านบาทภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนงบประมาณเหลือจ่ายของ สพฐ. ในปีนี้ทั้งหมดจะคืนกลับให้ครูและจะไม่มีโครงการที่สั่งไปจากส่วนกลาง จึงขอให้ทุกหน่วยงานสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจว่าเรากำลังพยายามจัดระบบให้มีความลงตัว พร้อมจัดหลักสูตรที่มีความเหมาะสมรองรับกับความต้องการของครูให้ครอบคลุมมากที่สุด

– ยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล มีทักษะด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การท่องเที่ยว และการแพทย์ ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรม และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและอุตสาหกรรมในอนาคต รองรับการพัฒนาเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) หรือ Eastern Economic Corridor: EEC  นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนในระดับอุดมศึกษาเช่นเดียวกัน และเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนในภาพรวมของการพัฒนาประเทศด้วย

– การยกระดับการสื่อสารภาษาอังกฤษ มอบ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  สื่อสารกับประชาชนและสาธารณชนให้สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชัน Echo English เพื่อพัฒนาตนเอง และให้ครูได้เข้าถึงการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) ด้วย

– การพัฒนาห้องปฏิบัติการสะเต็มศึกษา  มอบสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สื่อสารความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อส่งเสริมการสอนสะเต็มศึกษาในโรงเรียนต่าง ๆ ให้สาธารณชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง

– การแก้ไขปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ มอบ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการสื่อสารความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดยเน้นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขหรือได้ข้อสรุปแล้ว เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงความจริงจังในการดำเนินงาน

● จัดหลักสูตร “ท้องถิ่นศึกษา” ตามแนวทาง Zen Marketing

นายกรัฐมนตรี ได้ยกตัวอย่างการตลาดแหล่งท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (Zen Marketing) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยริเริ่มด้วยการตลาดภายใน (Internal Marketing) ในการสื่อสารเพื่อปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดและความรู้ท้องถิ่นให้กับเด็กในพื้นที่ในหลักสูตรต่าง ๆ เช่น วิชานาราศึกษา วิชาโกเบศึกษา เป็นต้น ที่จะทำให้เด็กมีความเข้าใจผลิตภัณฑ์ คนดัง และชุมชนของตนเองก่อน เพื่อสื่อสารทำการตลาดภายนอก (External Marketing) ไปยังสู่ลูกค้าและบุคคลภายนอกต่อไป จึงมอบกระทรวงศึกษาธิการทบทวนฟื้นฟูความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ในเรื่องของการท่องเที่ยว เพื่อขยายผลความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบ สพฐ. เตรียมจัดหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ โดยขอให้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการสื่อสารการตลาดภายในและสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นผ่านเด็กนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ให้เด็กได้รู้ที่มาที่ไปของพื้นที่ ได้เข้าไปสัมผัสและทัศนศึกษาในสถานที่สำคัญพบปะบุคคลสำคัญ ตลอดจนเข้าถึงเอกลักษณ์และผลิตภัณฑ์ดี ๆ ประจำท้องถิ่น ที่จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับเด็ก ชุมชนและท้องถิ่นไปในตัว ทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนรักษา และพร้อมที่จะสื่อสารต่อไปยังบุคคลภายนอกด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งนี้อาจเชื่อมโยงสู่การยกระดับภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้วย

● เร่งขับเคลื่อนการบูรณาการงานด้านการศึกษาในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาในภูมิภาค โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งจังหวัด และให้ผู้รับผิดชอบลงพื้นที่กำกับติดตามการวางแผนการพัฒนาการศึกษาแบบบูรณาการ โดยอาจใช้แนวทางของแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดนหรือแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีแผนยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด ให้มีระบบการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ มีแนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาในด้านต่าง ๆ พร้อมให้หน่วยงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษา จัดสรรงบประมาณดำเนินการไปยังพื้นที่โดยด่วน


● โรงเรียนปลอดบุหรี่ เหล้า และสื่อลามกอนาจาร 100%

จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ถึงสถานการณ์ในการดำเนินงานให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ตามกฎหมายนั้น ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ยังมีโรงเรียนบางส่วนที่ไม่ปลอดบุหรี่จริง

ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงมอบนโยบายไปยัง สพฐ. ดำเนินการให้โรงเรียนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ใน 3 เรื่อง คือการปลอดบุหรี่ การปลอดสุรา และการปลอดสื่อลามกอนาจาร ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รายงานตรงไปยังศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด เมื่อพบเห็นว่ามีผู้ใดกระทำการดังกล่าว พร้อมกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของศึกษาธิการภาค-จังหวัด ในการดำเนินงาน เพื่อให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ สุรา และสื่อลามกทั้ง 100% ด้วย แต่หากผู้บริหารและครูยังไม่สามารถเลิกได้ ก็ขอให้กระทำนอกเขตโรงเรียน หรือหากต้องการเลิกอย่างจริงจัง ศธ.ยินดีประสานกับมูลนิธิเพื่อรับการบำบัดต่อไป

นอกจากนี้ ยังขอให้โรงเรียนรณรงค์เพื่อลดการใช้โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนในขณะเรียนหนังสือด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัจจุบันเด็กไม่มีสมาธิจากการเรียน เพราะใช้วิธีการถ่ายรูปแทนการฟังและจดในสิ่งที่ครูพูด หากเป็นไปได้ขอรณรงค์ให้มีการใช้โทรศัพท์สำหรับติดต่อกับผู้ปกครองในช่วงมารับและส่งเท่านั้น


● ปรามสถานศึกษาไม่ให้จัดรับน้องใหม่แบบพิสดาร

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในประเด็นนี้ว่า จากกรณีข่าวการรับน้องใหม่แบบพิสดารในสถาบันอุดมศึกษา ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนักศึกษาและสถาบันที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ นั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงได้มีนโยบายกำชับไปยังสถาบันอุดมศึกษาให้ลงโทษกับรุ่นพี่หรือผู้กระทำการดังกล่าวตามความเหมาะสมของความผิด และหากเป็นความผิดทางกฎหมาย เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ก็สามารถแจ้งความเอาผิดได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะไม่ปกป้องแต่อย่างใด และสิ่งสำคัญคือมหาวิทยาลัยเองต้องรับผิดชอบ ทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหาร ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมมอบ สกอ. นำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 เรื่อง การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา มากำกับอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ประเพณีรับน้องแบบเดิม เน้นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม การบายศรีสู่ขวัญ หรือจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม แต่ระยะหลังต้องยอมรับว่า กิจกรรมส่วนใหญ่จัดเพื่อความสนุกสนาน และมักจะเลยเถิดพิสดารจนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอยู่เสมอ ดังนั้น การนำมาตรการตามประกาศมากำกับดูแล เพื่อต้องการที่จะป้องปรามไม่ให้จัดกิจกรรมรับน้องใหม่อย่างไม่สร้างสรรค์ และเพื่อเอาผิดกับนักศึกษารุ่นพี่หรือผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นต่อไป

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button