ข่าวการศึกษา

เล็งตั้งสำนักงานปฐมวัยแห่งชาติ

คณะกรรมการอิสระฯ ชง 8 ประเด็นพัฒนาเด็กเล็ก เล็งตั้งสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ แนะปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล ไม่เน้นวิชาการ แต่เน้นการใช้จินตนาการเพิ่มทักษะสมอง เผยมีข้อเสนอไม่อยากให้มีการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เหตุทำให้เด็กเครียด ด้าน “หมอจรัส” แย้มร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติยังไม่ครอบคลุม สั่งคณะอนุฯ เด็กเล็กศึกษายกร่างใหม่

นางสาวดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ คณะอนุกรรมการเด็กเล็กได้เสนอประเด็นการพัฒนาเด็กเล็กเพื่อพิจารณาใน 8 ประเด็น คือ 1.การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติให้เป็นส่วนราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฐมวัยแบบบูรณาการของคณะกรรมการการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ก.พ.ป.) 2.ปรับทัศนคติของประชาสังคมเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเด็กเล็ก เพราะการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยจะสามารถทำได้เห็นผลมากกว่าเด็กช่วงอื่นๆ อีกทั้งยังจะต้องสร้างความเข้าใจ เสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย 3.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเลขบัตรประชาชนที่สามารถเชื่อมโยงได้ทุกระบบ 4.ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลในช่วงรอยเชื่อมต่อของเด็กก่อนวัยเรียนไปสู่วัยเรียนจนถึงอายุ 8 ปี ระหว่างช่วงประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้สอดคล้องกับหลักการปฐมวัย ไม่เน้นวิชาการใน 8 กลุ่มสาระ แต่อยากให้เน้นการใช้จินตนาการการพัฒนาทักษะทางสมองตามช่วงวัยของเด็ก อิงสมรรถนะมากกว่าวิชาการ รวมถึงข้อเสนอที่ไม่อยากให้มีการสอบเข้าเรียนชั้น ป.1

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

“ในเรื่องการใช้จินตนาการเพิ่มทักษะทางสมองนี้ นักวิชาการด้านเด็กเล็กก็ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะไม่อยากให้มีการแข่งขันจนเด็กเกิดความเครียด และส่งผลต่อกล้ามเนื้อสมองของเด็กในวัยนี้ ดังนั้นคงต้องมีการหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร” น.ส.ดรุณีกล่าว

5.จัดสิทธิประโยชน์พื้นฐานของระบบสาธารณสุขและการศึกษาให้ครอบคลุมถึงความพร้อมในการเป็นพ่อแม่ 6.มีครูและบุคลากรด้านการพัฒนาเด็กเล็กมีทักษะที่สอดคล้องกับหลักการดูแล โดยจะต้องมีวุฒิบัตรรับรอง 7.เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และ 8.เร่งรัด พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติให้มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเป็นการปรับปรุงระบบและแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพแข็งแรง

ด้าน นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติ ตามที่คณะอนุกรรมการเด็กเล็กเสนอ แต่เห็นว่ารายละเอียดจะเน้นในเรื่องเฉพาะของการศึกษาเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.การปฐมวัยแห่งชาติควรจะเป็นภาพรวมที่ดูแลครอบคลุมทั้งการพัฒนาและการศึกษาของเด็กปฐมวัย จึงขอให้คณะอนุกรรมการฯกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม โดยศึกษาจากกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีเรื่องใดที่ยังไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมายและจัดทำร่างให้ครอบคลุมรัฐธรรมนูญด้วย รวมถึงศึกษาปัญหาของเด็กปฐมวัยว่าแต่ละเรื่องมีการแก้ปัญหาอย่างไร มากน้อยเท่าไร.

ที่มา: ไทยโพสต์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button