การเรียนการสอน

เสียงสะท้อนครูไทย (จบ) คืน “เวลาสอน” คือคำตอบ

ในตอนที่แล้ว เราได้สะท้อนถึงภาระงานอื่นๆ ที่หนักอึ้งของคนเป็นครู และเป็นภาระที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่หลักอย่าง “การสอนหนังสือ” ว่ามีอะไรบ้าง ในตอนนี้ เราจะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากนักวิชาการด้านการศึกษา และจากตัวแทนครู ว่าพวกเขาต้องการให้ปรับปรุงอะไรบ้าง การศึกษาไทยโดยรวมจึงจะดีขึ้น

สารพัด “การสอบ” ท่อน้ำเลี้ยง “กวดวิชา”

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

เรื่องของ “ธุรกิจกวดวิชา” ถูกพูดถึงเสมอว่าอยู่คู่กับระบบการศึกษาไทย รายงานและผลสำรวจมากมายระบุว่าธุรกิจนี้มีแต่จะโตวันโตคืน ทำกำไรมากกว่าหลายพันล้านบาทต่อปี เช่นเดียวกับที่พบว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ เชื่อว่าการกวดวิชามีความสำคัญ หากต้องการสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้ เนื่องจากการเรียนการสอนในระบบหลัก หรือในห้องเรียนยังไม่เพียงพอ หรือครูไม่มีวิธีการสอนที่น่าสนใจเท่ากับบรรดาติวเตอร์

แต่ก็มีผู้ตั้งคำถามเช่นกัน ว่าการสอบวัดผลต่างๆ มีมากเกินไปหรือไม่? จนกลายเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้ธุรกิจกวดวิชาขยายตัวได้ขนาดนี้ โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า ในขณะที่ครูมีภาระหน้าที่อื่นๆ จนไม่มีเวลาสอนนักเรียน แต่ในทางกลับกัน หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมิน กลับต้องการตัวเลขผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและสอบที่สวยหรู จึงไม่ต้องแปลกใจหากจะเห็นติวเตอร์หน้าใหม่ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดไม่เว้นแต่ละวัน

“การที่เราทำการเรียนการสอนในห้องลดลงไปตั้ง 84 วัน แต่เราต้องการตัวเลข เราเร่งเด็กมากเลย เราติวเด็กมากเลย นี่คือการเรียนรู้จริงหรือเปล่า? แล้วเด็กต้องวิเคราะห์ตามข้อสอบโอเน็ต (O-Net) ใช่ไหม? อุตสาหกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้น แผ่ขยายไปทั่วเลย คือการติว แล้วมันไม่ใช่แค่ติวเข้ามหาวิทยาลัย จะกลายเป็นติวโอเน็ต ติวแก็ต (GAT) ติวแพ็ต (PAT) ติวโน่นติวนี่ติวนั่น บริษัทพวกนี้มันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่แก้ระบบ ไม่แก้กฎหมาย วัฒนธรรมการติว วัฒนธรรมเอกสาร วัฒนธรรมลูบหน้าปะจมูก มันก็ยังจะเกิดขึ้น” อาจารย์สมพงษ์ ระบุ

เช่นเดียวกับ นายอาคม สมพามา ครูโรงเรียนสายธรรมจันทร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กล่าวว่า แต่ละปี นักเรียนจะต้องไปสอบวัดผลต่างๆ หลายครั้ง เพื่อให้ได้ไปต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นภาระที่หนักทั้งผู้เรียนในการเตรียมสอบ ขณะเดียวกันก็เป็นภาระของครูที่ต้องเตรียมสอบให้กับนักเรียน เพราะมีผลต่อการประเมินด้วย

“เราไม่ได้แอนตี้การสอบของ สทศ. หรือสอบอะไรก็ตาม แต่เราอยากให้ลดภารกิจในการสอบ เด็ก ม.6 ต้องสอบกัน 6-7 ครั้งต่อปี วิธีประเมินผลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ควรเป็นครั้งเดียวก็พอ แล้วก็เอาผลสอบนั้นไปเชื่อมโยงกับเด็ก ที่เขาจะได้เอาไปพัฒนาตนเอง” นายอาคม กล่าว

“ครูหาย” ทำลาย “พัฒนาการเด็ก”

อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว กรณีผลสำรวจพบว่าครูต้องมีภาระงานเอกสาร โดยเฉพาะงานประเมินมากที่สุด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการสอน ทว่าไม่เพียงทำให้เวลาสอนไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังทำลายพัฒนาการด้านอุปนิสัยที่คนคนหนึ่งควรมี เช่น การใช้สมาธิ อันเป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วย

ดร.ไกรยส ภัทราวาส นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ยกตัวอย่างงานวิจัยของ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ที่ทำการสำรวจเด็กใน 5 ประเทศ ได้แก่ เอธิโอเปีย กัวเตมาลา ฮอนดูรัส โมซัมบิก และเนปาล แล้วพบว่า การเบียดบังเวลาการสอนของครูให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ แม้เพียงร้อยละ 20-30 ก็ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสมาธิของเด็กแล้ว เช่น เกิดปัญหาสมาธิสั้น และผลการเรียนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

“เด็กไทยต้องเรียนสูงถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา แล้วไม่ใช่ทุกชั่วโมงที่จะมีครูอยู่ในห้องเรียน ครูจะอยู่ไม่อยู่ หลักสูตรมันมี เด็กก็ต้องเรียน แล้วมันมีงานวิจัยขององค์กรความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจ 5 ประเทศ พบว่าการดึงครูออกนอกห้องเรียน แค่ร้อยละ 20-30 ของเวลาเรียน มันทำลายคุณภาพของเด็ก คือเด็กต้องมีเวลาที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ลองนึกถึงเด็กกำลังหัดคัดลายมือ ฝึกอ่านออกเขียนได้ ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ บวกลบเลข ท่องสูตรคูณ เอ้าท่องไปเลย เดี๋ยวครูไปประเมินก่อน

นี่แหละครับเด็กไทยสมาธิสั้นมาจากไหน? ก็มาจากไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการสร้างทักษะการเรียนรู้เหล่านี้ เราส่งเด็กไปสมาธิสั้นเพราะเราไม่มีครูอยู่กับเด็กต่อเนื่องตลอดเวลา ครูไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับเด็ก แม้ว่าหลักสูตรจะบีบให้เด็กเรียนมากในระดับโลก โลกเขาเรียนกันเฉลี่ย 800 ชั่วโมง เราเรียนมากกว่าเขาไปครึ่งนึง แต่ก็ไม่มีครูมาอำนวยการให้เด็กเขารู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร” ดร.ไกรยส กล่าว

“ลดเอกสาร-ปฏิรูปงานประเมิน” สิ่งที่ครูต้องการ

จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างครูสอนดี 427 คน ตามที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว ดร.ไกรยส เล่าต่อไปว่า เมื่อถามว่าครูอยากเสนอแนะอะไรบ้าง อันดับ 1 ร้อยละ 39 อยากให้การประเมินยึดผลสัมฤทธิ์ของตัวผู้เรียนมากกว่าการทำเอกสาร อันดับ 2 ร้อยละ 32 อยากให้ลดภาระการประเมิน ให้เหลือเกณฑ์ประเมินเท่าที่จำเป็น ไม่มากมายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ อันดับ 3 ร้อยละ 26.7 อยากให้ทำวิธีการประเมินให้เป็นมาตรฐาน เชื่อถือได้

“สิ่งที่ครูอยากให้ปรับมากที่สุดเกี่ยวกับการประเมิน คือช่วยเน้นไปที่ผลลัพธ์ของเด็ก มากกว่าเอกสารได้ไหม? งบประมาณการศึกษาของไทยเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาททุกปี กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากไหน มาจากเอกสารที่ทำวิทยฐานะกัน ถ้าเรายังปล่อยให้งบประมาณเพิ่มทุกปี โดยให้รางวัลกับเอกสาร ที่ไม่ได้ส่งผลลัพธ์โดยตรงต่อผู้เรียน เรากำลังรดน้ำพรวนดินให้กับระบบการศึกษาแบบไหนกัน?” นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษา สสค. ระบุ

เช่นเดียวกับ นายอาคม ที่เสนอว่า สถานศึกษาระดับพื้นฐาน ควรมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ เช่น ฝ่ายบัญชี-การเงิน หรือฝ่ายธุรการ ฝ่ายพัสดุ แบบเดียวกับมหาวิทยาลัย โดยให้เป็นตำแหน่งงานอย่างเป็นทางการ มีความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งนอกจากจะลดภาระงานอื่นๆ ของครูลงแล้ว ยังสามารถช่วยให้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำด้วย

“โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ เด็กตั้งสองพัน ครูเป็นร้อย งานธุรการจะแค่ไหนครับ? ดังนั้นผมว่าจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุน เราก็จ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ ให้เขาเป็นพนักงานของรัฐ ให้ความมั่นคงกับเขา แล้วอาจจะบรรจุบุคลากรในท้องถิ่น เป็นการจ้างงานด้วย ไม่ต้องให้เขาไปไหน เขาก็จะมั่นคง เขาก็จะอยู่กับเรา งานของครูก็จะลดลง ในส่วนนี้ก็สำคัญ แล้วในส่วนผู้วางนโยบาย ก็ต้องไปทำยังไงก็ได้ ไม่ให้มีภาระงานเยอะมากนัก” ครูเจ้าของรางวัลครูสอนดี รายนี้ ฝากทิ้งท้าย

จากสกู๊ปทั้ง 2 ตอนนี้ หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจ “หัวอกคนเป็นครู” มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า บรรดาผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อพิมพ์-แม่พิมพ์” ส่วนใหญ่ ยังคงยึดมั่นในหลักการของวิชาชีพ ที่ต้องการอบรมสั่งสอนให้เยาวชนเติบโตขึ้นเป็น “คนเก่ง-คนดี” เพียงแต่หากเป็นเพราะภารกิจอื่นๆ ที่ประดังเข้ามามากมาย ได้บั่นทอนกำลังใจของครูทั้งหลายลงไป

ไหนๆ ก็จะปฏิรูปกันแล้ว..ขอให้เรื่องนี้ทำกันจริงๆ จังๆ เสียที เพราะคงไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่า “การศึกษา” ที่เป็นตัวชี้วัด “คุณภาพคน” อันเป็น “กำลังของชาติ” อีกแล้ว!!!  

Via
[email protected]
Source
สกู๊ปแนวหน้า

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button