ข่าวการศึกษา

ศธ.เตรียมจับมือ สธ. และ สสส.ลดปัญหาเด็กโภชนาการเกิน

(18ม.ค.61)นายพะโยม ชิณวงศ์เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่าศธ.ร่วมกับโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัยของ สสส. ทำการสำรวจโรงเรียนภาคเอกชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯได้พบปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนในโรงเรียน โดนมีสัดส่วนนักเรียนประถมศึกษาร้อยละ 19.6 นักเรียนมัธยมศึกษาร้อยละ 36 ซึ่งสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายงานระดับประเทศนอกจากนี้นักเรียนเหล่านี้เกินร้อยละ 60 มีภาวะไขมันในเลือดสูงทั้งที่ค้นพบในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กโดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคอ้วนมีไขมันในเลือดสูงเบาหวานและความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตส่งผลต่อการสิ้นเปลืองงบประมาณและค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษาพยาบาลของทางครอบครัวและประเทศ

นายพะโยม กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยเกี่ยวกับโภชนาการของเด็กไทยมาตลอด จึงทรงดำริให้มีโครงการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็น โครงการเสริมธาตุไอโอดีน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแต่จากพฤติกรรมในการบริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันส่งผลให้เด็กเกิดภาวะโภชนาการเกิน โดยเฉพาะโรงเรียนในตัวเมืองดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้  ซึ่งจะอาศัยเพียงผู้ปกครองอย่างเดียวไม่ได้โรงเรียนต้องเข้ามาร่วมด้วย ทั้งการออกกำลังกาย และเรื่องอาหาร และของที่นำมาจำหน่ายในโรงเรียน ต้องดูแลให้เป็นไปตามหลักโภชนาการศธ.จึงมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย (สสส.) และ สธ. แก้ปัญหาดังกล่าว

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2561 จะมีการประชุมผู้บริหารโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร นายพะโยมจะนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมว่าจะขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างไรเพื่อลดภาวะโภชนาการเกิน โดยช่วงปี 2561 นี้อาจจะยังไม่มีงบประมาณมากนักแต่เชื่อว่าโรงเรียนเอกชนมีงบประมาณของโรงเรียนในการดำเนินการ และมีความคล่องตัวกว่าส่วนทางศธ.จะสนับสนุนในเรื่องของวิทยากรและองค์ความรู้ต่างควบคู่กันไป โดยจะดำเนินการในโรงเรียนนำร่องก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้การเข้าร่วมกับโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัยจะมีผลดีกับทางโรงเรียนคือสามารถได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์สมศ. เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพในระดับดีมากที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสามารถในการบริหารจัดการร่วมกิจกรรมกับสถาบันอื่นๆในระดับประเทศแก้ไขปัญหาสุขภาพนักเรียนและบุคลากรผลดีกับครูที่ร่วมกิจกรรมคือได้แสดงศักยภาพในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่นักเรียนและตนเองและครอบครัว ตลอดจนผลดีกับนักเรียนคือเกิดความตระหนักรู้ด้านอาหารและการออกกำลังกายในการสร้างเสริมสุขภาพและสติปัญญา รวมทั้งขยายความรู้สู่ครอบครัวและทำให้ทุกคนมีสุขภาพดี

ที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button