รมว.ศึกษาธิการ “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ให้นโยบายศึกษานิเทศก์ใหม่ ขอให้ดึงความสามารถของตนเองเต็มที่เพื่อช่วยยกระดับการศึกษา นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างครูกับฝ่ายบริหาร โดยจะให้ สพฐ.ระดมพลังของศึกษานิเทศก์อาวุโสฝีมือดี ทำงานเก่ง มาถ่ายทอดประสบการณ์และร่วมพัฒนา ศน.รุ่นน้องให้เข็มแข็งมากยิ่งขึ้น

วันนี้ (19 มี.ค.2561) ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ (ศน.) รุ่นที่ 9-13 ประจำปี 2561 โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร และผู้เข้ารับการพัฒนาในรุ่นนี้เข้าร่วมกว่า 300 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า PISA คือการประเมินระดับนานาชาติ ที่เป็นปรอทวัดอุณหภูมิทางการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในส่วนของไทย ศน.จำเป็นต้องอ่านผลและศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำไปใช้และให้ข้อชี้แนะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น การกระจายของข้อมูลและคะแนน, ช่องว่างของคะแนนเด็กไทย, เหตุใดเด็กที่ยากจนที่สุดและพ่อแม่ไม่สนใจการศึกษา 10% ของเวียดนาม จึงสามารถทำคะแนนได้สูงเท่ากับเด็กในประเทศที่เจริญแล้ว เป็นต้น
จึงถือว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องยกระดับบทบาทของ ศน. ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวางกรอบมาตรฐานการศึกษาเพื่อใช้ประเมินคุณภาพของโรงเรียน โดยโรงเรียนต้องประเมินคุณภาพการจัดการเรียนการสอน (Self Assessment) ของตนเองเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงแสดงผลงานและรางวัล (พร้อมหลักฐานประกอบ) อย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้ายคือวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ทั้งนี้ ขอให้ ศน.มีส่วนสำคัญต่อการประกันคุณภาพเพื่อพัฒนาโรงเรียนอย่างกัลยาณมิตร ช่วยสร้างศรัทธาและความเคารพของครูและโรงเรียนด้วยผลงานวิชาการและความตั้งมั่นที่จะพัฒนาโรงเรียนร่วมกัน ไม่เพียงเฉพาะผลสัมฤทธิ์จากคะแนนสอบเท่านั้น แต่จะต้องไปติดตามกระบวนการจัดการเรียนการสอน วิเคราะห์และประเมินผลเพื่อพัฒนาบนพื้นฐานบริบทของโรงเรียน และสะท้อนความคิดเห็นและอุปสรรคการทำงานของครูกลับมายังฝ่ายบริหารด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและพัฒนางานให้ก้าวหน้ารวดเร็วมากขึ้น
ส่วนการประเมินของ ศน.นั้น ส่วนกลางจะช่วยออกแบบและกำหนดรายละเอียดงาน (Job Descriptions) ว่ามีงานใดที่ต้องทำบ้าง จากนั้นเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจในงานหรือลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติเป็นอย่างดี เพื่อรับการประเมินในมิติต่าง ๆ เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีข้อกังวลใด ๆ เกี่ยวกับศึกษานิเทศก์ที่จะบรรจุแต่งตั้งใหม่ เพราะมองเห็นถึงความตั้งใจของทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำงานวิชาการโดยไม่มีอำนาจแฝงอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้ดึงความเก่งความสามารถของตนเองออกมาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยยกระดับการศึกษา และนำนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างครูกับฝ่ายบริหารด้วย โดยขอให้เลขาธิการ กพฐ. ระดมพลังของศึกษานิเทศก์อาวุโสฝีมือดี ทำงานเก่ง และพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ มาร่วมกันพัฒนา ศน.รุ่นน้องให้เข็มแข็งมากขึ้นต่อไป
ในโอกาสนี้ รมว.ศธ.ได้ตอบข้อซักถามของผู้เข้ารับการพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ อาทิ
Q: จะทำให้คนเห็นความสำคัญของ ศน.ได้อย่างไร
A: การให้ข้อเสนอแนะแก่โรงเรียนต้องมีพลัง อยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ มีข้อมูลและเหตุผลรองรับ พร้อม ๆ กับควรเพิ่มความจริงจังในการทำงาน หรืออาจจะต้องมีการให้คุณให้โทษบ้าง แต่ก็ต้องมีความยุติธรรมและคงไว้ซึ่งความเป็นกัลยาณมิตร เช่น การดำเนินโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งต้องการให้โรงเรียนมีการประเมินผลและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทเป็นระยะ ซึ่งมีหลายโรงเรียนทำได้ดี เด็กมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น แต่บางโรงเรียนก็ยังใช้กิจกรรมเดิม ๆ จึงควรปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มกิจกรรมบ้าง อย่างไรก็ตาม ในโรงเรียนระดับมัธยมที่สอนไม่ทันอยู่แล้ว หากจะลดเวลาเรียนอีกอาจทำให้ผลการเรียนแย่ลง ซึ่งก็ต้องหารือร่วมกันและเสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนต่อไป
Q: จำนวนตำแหน่งที่จะรองรับและระยะเวลาที่ใช้ในการบรรจุแต่งตั้ง
A: เมื่อเข้ารับการพัฒนาจนจบหลักสูตรและผ่านเกณฑ์ประเมิน ก็จะได้รับเกียรติบัตรผู้ผ่านการพัฒนา จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเพื่ออนุมัติต่อไป โดยขณะนี้มีตำแหน่งรองรับและเพียงพอที่จะบรรจุแต่งตั้งผู้เข้ารับการพัฒนาทุกคนอยู่แล้ว
Q: งานหรือนโยบายแรกที่จะฝากให้ ศน.ช่วยนำสู่การปฏิบัติคืออะไร
A: งานแรกก็คือ การทำความเข้าใจในรายละเอียดงาน (Job Descriptions) ของ ศน. ซึ่งส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนด แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำได้ คือการประเมินเพื่อประกันคุณภาพโรงเรียน ที่จะทำให้โรงเรียนดีขึ้นและมีคุณภาพตามกรอบการประกันคุณภาพการศึกษา ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ฉบับใหม่ หลังจากนั้นจะขอให้สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะเรียนหนังสือ รวมทั้งติดตามการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในระบบคูปองครู เป็นต้น
Q: จะทำอย่างไรให้ ศน. มีมาตรฐานการทำงานในทิศทางเดียวกัน
A: อันดับแรกทุกคนต้องเข้าใจรายละเอียดงานและงานที่ต้องทำก่อน จึงจะสามารถประเมินตนเองว่า ทำงานเป็นไปตามกรอบมาตรฐานการศึกษา เช่นเดียวกับที่ต้องไปประกันคุณภาพโรงเรียนหรือไม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการวางกรอบมาตรฐานการศึกษาใกล้เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะมีการประกาศให้ทราบต่อไป

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ
URL Copied