ข่าวการศึกษา

ชวนคิด ทำไมถึงต้องมีการจัดลำดับอาวุโสในข้าราชการครู

ไม่น่าเชื่อว่า จากการที่แอดมินแชร์บทความ การจัดลำดับอาวุโสในข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  จะกลายเป็นเรื่องดราม่าสำหรับหลายๆท่าน แม้กระทั่งท่านที่เป็นครูมาตั้งนานแล้ว

จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับข้าราชการทุกฝ่ายมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ในระบบราชการจะมีการจัดเรียงลำดับแตกต่างกันเล็กน้อย ตามแต่ภาระงานที่สังกัด  โดยส่วนราชการจะจัดทำบัญชีเรียงลำดับอาวุโส เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาบริหารงานบุคคล

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ลองอ่าน :  ว่าด้วยหลักอาวุโส  https://www.thairath.co.th/content/125087
ความอาวุโสกับการแต่งตั้งข้าราชการ http://bit.ly/2Hmdq7v

วันนี้จึงจะลองมาเปรียบเทียบ การจัดลำดับอาวุโสในข้าราชการครู เพื่อเปรียบง่ายๆกับโรงงานแห่งหนึ่ง

โรงงานแห่งหนึ่ง มีพนักงานทั้งหมด 10 คน โดยสมมติว่า  พนักงานทุกคนเป็นคนดี และเข้าทำงานในโรงงานไล่เลี่ยกันหรือเข้าทำงานพร้อมๆกัน  เจ้าของโรงงานจึงคิดหาวิธีที่จะให้พนักงานมีความก้าวหน้าในสายงาน จึงคิดวิธีได้ 5 ข้อเรียงลำดับดังนี้

  1. มีความชำนาญในงานที่ทำ มากกว่าคนอื่น การที่จะเป็นหัวหน้าคนหรือได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ก็คือต้องทำงานในหน้างานนั้นๆ ชำนาญกว่าคนอื่นๆ
  2. ได้เงินเดือนเยอะกว่าคนอื่น ได้เงินเดือนเยอะกว่า เป็นการการันตีได้ว่าคนนี้ทำงานดี จนทำให้เจ้านายเนี่ยพึงพอใจสร้างผลกำไร จึงเลื่อนเงินเดือนให้บ่อยๆ จนมากกว่าคนอื่น
  3. ทำงานกับโรงงานมานาน คนที่ทำงานกับโรงงานมานานย่อมรู้ตื้นลึกหนาบาง รู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับโรงงานหรือเครื่องจักรในโรงงาน
  4. ได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น  คนที่ได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น ก็ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ว่า บุคคลนั้นทำงานดี มีความสามารถ เป็นคนดี สมควรได้รับรางวัล
  5. อายุมากกว่าเพื่อน    มนุษย์ไม่ใช่เฉพาะคนไทย โดยส่วนมากก็มีความเชื่อว่าคนที่มีอายุมาก (เป็นคนดีนะ) ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์ ความผิดหวัง สมหวัง มาพอสมควร  จึงน่าจะมีสติ ใจเย็น หรือมีความรอบคอบมากกว่า เด็กหนุ่มไฟแรง ใจร้อน มุทะลุ แต่เหตุนี้ก็ไม่เสมอไป จึงจัดลำดับความสำคัญมาไว้ท้ายสุด

เมื่อเจ้าของโรงงานคิดได้ดังนี้ ในพนักงาน 10 คน ก็เริ่มวิเคราะห์ได้แล้วว่าใครสมควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือไปเป็นหัวหน้าแผนกที่โรงงานสาขาอื่น หรือ แม้กระทั่งพนักงานต้องการจะแข่งขันกันไปทำงานในสาขาใกล้บ้านตนเอง แต่ดันมีคนต้องการไปมากกว่า 1 คน แต่โรงงานสาขาอื่นรับได้เพียง 1 คน เหตุนี้เป็นต้น

จึงเป็นเหตุให้  เรียงลำดับ ความชำนาญงาน ไว้เป็นลำดับที่ 1  เช่น  ชำนาญงาน  ชำนาญงานเป็นพิเศษ  เชี่ยวชาญในงาน
ลองคิดดูว่า คุณครู จะให้ใคร เป็นหัวหน้างาน หรือได้รับโอกาสก่อน แน่นอนเชื่อว่าถ้าตอบแบบไม่อคติก็ต้องบอกว่า คนที่เชี่ยวชาญงานควรจะได้เป็นหัวหน้างาน หรือ ได้รับโอกาสในการเลือกก่อน  (เราจะไม่พูดถึงเหตุแห่งการได้มาของความชำนาญงานนะครับ เพราะเชื่อว่า พนักงานทุกคนเป็นคนดี ) เพราะมีโอกาสทำงานที่เชี่ยวชาญนั้น ได้ดีกว่าคนอื่นๆแน่ๆ

สมมติ  ในโรงงาน พนักงานทั้ง 10 คน เป็นคนที่เชี่ยวชาญในการทำงานทั้งหมด  เอแล้วจะทำอย่างไรดี  ก็คิดได้ว่า ออ..คนที่เงินเดือนมากกว่าคนอื่น น่าจะได้รับโอกาสมากกว่า คนอื่นๆ  เพราะเมื่อได้รับเงินมากกว่าคนอื่น ย่อมมีความสามารถ หรือผลงานดีกว่าคนอื่น แล้วถ้าดันเกิดมีคนเงินเดือนเท่ากันหลายคนอีกล่ะ

ก็ต้องมาพิจารณาในข้อต่อมา เพื่อตอบแทนในการที่ทำงานกับโรงงานมานาน ย่อมรู้ปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาให้โรงงานเป็นอย่างดี ในเมื่อเกณฑ์ 2 ข้อแรก ยังหาข้อสรุปไม่ได้ คนที่ทำงานกับโรงงานมานาน จึงสมควรได้รับโอกาสเป็นลำดับต่อมา ก่อนคนอื่นๆ

ทีนี้เกิดทุกคน  มาทำงานในโรงงานพร้อมๆ กันละ จะทำอย่างไรดี  พนักงานดีเด่น ยังไงล่ะที่จะได้รับการพิจารณาในลำดับถัดมา เพราะว่าคนที่ดีเด่น ย่อมต้องมีชิ้นงานที่ประสบความสำเร็จ หรือทำผลงานได้ดี  แล้วถ้าตลอด 10 ปีมานี่ทุกคนได้รับรางวัลพนักงานดีเด่นทุกคนแล้วล่ะ

ทีนี้ละ ก็มาถึงการให้ความสำคัญกับอายุของคนที่ทำงาน  ว่าคนที่มีอายุมากกว่า ก็ให้ได้เลือกหรือให้ได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ เห็นมั้ย พอมาถึงตรงนี้ พนักงานที่อายุน้อยกว่าก็จะคิดได้ว่า อายุมากกว่าใช่ว่าจะดีกว่าอายุน้อยกว่า อายุน้อยกว่าเมื่อไหร่จะได้เติบโต ก็ต้องรอคนอายุมากกว่า ได้หยิบชิ้นปลามันไปก่อนทุกที ข้อนี้ไม่ได้เล็งเห็นถึงความสามารถ หรือศักยภาพของคนทำงานเลย  ข้อนี้จึงจัดมาอยู่ลำดับสุดท้าย

เพราะโรงงานต้องการคนที่มีความชำนาญในงานที่สำคัญของโรงงานมากกว่าคนอื่นๆ จึงถูกเรียงลำดับไว้บนสุด

ทีนี้ครูเราเนี่ย เป็นวิชาชีพที่ใช้ความชำนาญทางด้านวิชาการ การจะได้มาซึ่งความชำนาญทางการวิชาการ เราก็ได้เห็นดีเห็นชอบร่วมกันว่า การทำผลงานทางวิชาการ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีกึ๋นและมีความชำนาญในการแก้ปัญหาทางวิชาการ หรือพัฒนางานทางด้านวิชาการได้ดีเพียงใด    ที่เรียกกันว่า เพื่อการขอมีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ  ( เราจะไม่พูดถึงเหตุ แห่งการได้มาซึ่งผลงาน เพราะพื้นฐานแห่งการเชื่อว่า ทุกคนเป็นคนดี )

แล้วทุกวันนี้ความอาวุโสทางราชการของครูเรา ก็ไม่ได้มีความเข้มข้นเท่ากับข้าราชการอื่น ยกตัวอย่าง ทหาร หรือตำรวจ  ซึ่งหลายท่านก็คงพอเดาได้ว่าเป็นอย่างไร

อาวุโสทางราชการครู  นำไปใช้ในกรณีใดบ้าง เช่น

  1. การเขียนคำร้องเพื่อขอย้ายสถานศึกษา  เกิดคนที่เขียนย้ายมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ท่านจะเอาเกณฑ์ข้อใดไปพิจารณาบ้าง ความอาวุโสทางราชการ จึงเป็นข้อหนึ่ง ซึ่งคะแนนไม่ได้ให้ความสำคัญตรงส่วนนี้มากเท่าใดนัก เช่นอาจจะแค่ 10 -15 เต็ม 100
  2. การสอบเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งเป็น ผอ.รร.   ผอ.เขต  คะแนนส่วนนี้ก็มีความสำคัญ และก็ขึ้นอยู่กับวาระในการกำหนดของหน่วยเหนือขึ้นไป
  3. การรักษาราชการแทน เป็นต้น

เกี่ยวกับการเคารพ นับถือ ให้เกียรติ กันมั้ย  คงเกี่ยวกันบ้างนั่นแหละครับ เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าคนที่อาวุโสมากกว่า ก็เป็นคนมีคุณภาพนะ ซึ่งการให้เกียรติกันระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ดีงามอยู่แล้ว

แต่เกี่ยวกับครูผู้อายุมากกว่า ต้องก้มไหว้ ครูที่อายุน้อยกว่า ที่วิทยฐานะมากกว่ามั้ย นั่นเป็นเรื่องของปัจเจก การเคารพนับถือกัน หาใช่ด้วยเหตุ อาวุโสทางราชการ อย่างเดียวไม่

ส่วนใครจะนำระบบอาวุโสนั้น ไปใช้เพื่อการที่ไม่สมควร ให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจแก่บุคคลอื่น นั้นก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเช่นเดียวกัน  และเชื่อว่าบุคคลนั้นก็ไม่น่าคุยด้วยสักเท่าไหร่

ทีนี้ลองถามตัวท่านเองว่า ถ้าเป็นท่านจะเรียงลำดับ แบบไหน เอาอะไรขึ้นก่อนดี หรือ ลองใช้เกณฑ์ใหม่แบบไหน เผื่อเราจะได้ทางออกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้…

แล้วมันมีประโยชน์อันใดไหม  ข้อนี้คงตอบได้ว่าเมื่อถึงเวลาสมควรของตน ข้าราชการครูทุกคน  จะได้ใช้หลักการนี้ แน่นอน

ปล. ความเห็นนี้ถูกวิเคราะห์ ง่ายๆ ตามประสบการณ์อันน้อยนิดของข้าพเจ้าเอง  หากท่านใดที่ทำงานเกี่ยวข้องในส่วนนี้หรือเห็นว่าขาดตกบกพร่องอันใด กรุณาให้คำชี้แนะ แอดมินจะคัดลอกลงต่อท้ายบทความนี้ ด้วยครับ

 

ชวนคิด ทำไมถึงต้องมีการจัดลำดับอาวุโสในข้าราชการครู

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button