ข่าวการศึกษา

ผอ.สทศ.สพฐ. ตอบคำถาม “การสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) จะมีการเปลี่ยนแปลงและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่”

ผอ.สทศ.สพฐ. ตอบคำถาม “การสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) จะมีการเปลี่ยนแปลงและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่”

7 พ.ค.63
#อีก1ข้อคำถามจากVideo Conferenceในวันนี้ที่ว่า
“การสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) จะมีการเปลี่ยนแปลงและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่”

#คำตอบ
1. การทดสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเทียบเคียงมาตรฐานการจัดการศึกษาทั้งประเทศว่าเป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่อย่างไร โดยที่กระบวนการจัดการสอบจะต้องมีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และสะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานหลักสูตร ดังนั้น หน่วยงานที่จัดสอบ ทั้งสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หน่วยงานที่จัดสอบ NT ชั้น ป.3) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (หน่วยงานที่จัดสอบ O-NET ชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6) จะต้องมีมาตรฐานและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ทั้งในด้านการพัฒนาแบบทดสอบที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามกรอบโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางฯ การบริหารจัดการสอบของศูนย์สอบที่โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ การรายงานผลการสอบที่เป็นระบบ และการนำผลสอบไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เป็นต้น
2. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ส่งผลต่อการเปิดปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ของสถานศึกษา ดังนั้น หน่วยงานที่จัดสอบระดับชาติจะได้พิจารณาถึงช่วงเวลาของการทดสอบระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2563 ตามสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง โดยให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเลื่อนเวลาเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษา และสอดคล้องกับช่วงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องใช้ผลการทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.6 ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าแนวโน้มสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่เสี่ยงต่อการสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่นักเรียน การจัดสอบ NT และ O-NET ก็จะเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการสอบในปีที่ผ่านมา และก็มีความพยายามที่จะใช้นวัตกรรมทางด้านการสอบเพิ่มมากขึ้น เช่น การวิจัยและพัฒนาระบบการทดสอบออนไลน์ การนำ AI มาช่วยตรวจกระดาษคำตอบอัตนัยของผู้เรียน รวมถึงการนำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทดสอบสู่การปฏิบัติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบให้น้อยลง การลดความเครียดและวิตกกังวลของนักเรียนจากการสอบจำนวนมาก เป็นต้น

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

#ประเด็นฝากให้รู้ถึงความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเพื่อปรับการทดสอบระดับชาติ (O-NET)
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับระบบการทดสอบระดับชาติในขณะนี้มีหลายประการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานวิเคราะห์ความเป็นไปได้และนำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลายประเด็นไปยังหน่วยงานที่จัดสอบ O-NET เช่น
1. วิธีการสอบใช้การสุ่มสอบหรือสมัครใจของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ใช้การสอบทุกคน (หากจำเป็นต้องใช้ผล ONET ในการคัดเลือกเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา)
2. รูปแบบการสอบใช้วิธีการสุ่มสอบหรือสมัครใจสำหรับนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 โดยเริ่มใช้วิธีการสุ่มสอบหรือสมัครใจ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563
3. รูปแบบของข้อสอบ O-NET ควรยึดโยงกับการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ครอบคลุมพฤติกรรมและเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตร (ความรู้ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ)

#เนื่องมาจากเหตุผลในหลายประการดังนี้
1.ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 “มาตรา 26 กำหนดไว้ว่า
“ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ สังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา”
“ให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ และให้นำผลการประเมินผู้เรียนตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามมาตรา 26 ข้างต้น มิได้กำหนดให้การสอบระดับชาติต้องดำเนินการจัดสอบกับนักเรียนทุกคน และการกำหนดให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ ก็มิได้ระบุว่าเป็นการสอบระดับชาติ แต่สถานศึกษารวมทั้งมหาวิทยาลัย สามารถใช้วิธีการตามวรรคหนึ่ง เช่น แฟ้มสะสมผลงาน การสัมภาษณ์ การสอบภาคปฏิบัติ เป็นต้น มาประกอบการพิจารณาได้

2.การประเมินระดับชาติเน้นการประเมินความรู้เป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนของการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมดถูกเตรียมการเพื่อการประเมินระดับชาติ ที่เน้นวัดและประเมินความรู้ ทฤษฎี และยังมีการจัดสอบหลายวิชา หลายครั้ง ซึ่งเป็นการสอบที่เน้นความรู้ทฤษฎีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ลุ่มลึกต่างกัน ส่งผลให้นักเรียนมีความเครียด และยังทำให้วงจรการพัฒนาผู้เรียนขาดการพัฒนาในทุกมิติ ดังนั้น การสอบ O-NET ควรมุ่งให้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาผู้เรียน การดำเนินการจัดสอบ O-NET ด้วยวิธีการสุ่มสอบหรือสมัครใจ จะทำให้การนำผล O-NET ไปใช้เพื่อการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และไม่สามารถนำคะแนนจากการสอบ O-NET ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

3.วัตถุประสงค์ของ O-NET คือ ต้องการเทียบเคียงมาตรฐานการจัดการศึกษาทั้งประเทศว่าเป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่อย่างไร จึงไม่จำเป็นต้องวัดกับนักเรียนทุกคน ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในการจัดการเรียนการสอน สื่อการสอน และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ที่มิใช่การวัดและประเมินผลที่เน้นเนื้อหาอีกต่อไป ดังนั้น หน่วยงานที่จัดการสอบระดับชาติ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบ วิธีการ และการบริหารจัดการสอบ เพื่อให้การวัดและประเมินผลในทุกระดับสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4.การดำเนินการสอบ O-NET แบบสุ่ม จะทำให้รูปแบบข้อสอบแบบเขียนตอบถูกนำมาใช้มากขึ้น หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ การสอบภาคปฏิบัติ อาจสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังทำให้มิติการประเมินทักษะกระบวนการและคุณลักษณะถูกนำมาประเมินในข้อสอบระดับชาติได้ และทำให้รูปแบบของข้อสอบ O-NET ยึดโยงกับการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่ครอบคลุมพฤติกรรมและเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตรอย่างแท้จริง

5.หากมีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการสอบที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย ทั้งการออกข้อสอบ การตรวจข้อสอบอัตนัย ก็สามารถลดคนทำงาน ไม่ดึงครูออกนอกชั้นเรียน และสามารถใช้ศูนย์สอบของ สทศ. และประสานความร่วมมือกับ สพฐ. ในการใช้ศูนย์ HRDC ในการจัดสอบได้

6.ปัจจุบันสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยมีที่นั่งเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน จึงไม่จำเป็นต้องคัดเลือกนักเรียน ดังนั้น O-NET อาจไม่มีความจำเป็นไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในหลายๆ คณะ

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับระบบการทดสอบระดับชาติ (O-NET) ก็ต้องได้รับการพิจารณาและตัดสินใจจากระดับนโยบาย และเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อปรับระบบการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมายและเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอย่างแท้จริง
#โปรดติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป…
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากท่าน : ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผอ.สทศ.สพฐ.

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button