ข่าวการศึกษา

สพฐ.จัดทำรูปแบบการพัฒนางานหรือการปรับปรุงงานที่จะลดภาระงานครูทั้งระบบ

สพฐ.จัดทำรูปแบบการพัฒนางานหรือการปรับปรุงงานที่จะลดภาระงานครูทั้งระบบ

วันที่ 20 มกราคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 2/2564 เพื่อหารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการ อาทิ การยกเลิก O-NET การจัดกิจกรรม 5ส แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563-2565 รวมถึงแนวปฏิบัติในการรับ-ส่งหนังสือราชการในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ สพฐ. และการบูรณาการตัวชี้วัดระหว่าง PMQA/ITA/มาตรฐาน เป็นต้น โดยมีผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และบุคลากร สพฐ. เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
.
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการจัดทำคำของบประมาณปี 2565 ให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของชาติ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.) ซึ่งต้องการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone ให้สำเร็จ โดยปรับงบประมาณในการจัดตั้งของปี 2565 ให้สัมพันธ์กับนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 ให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนั้นในฐานะที่ สพฐ. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone จึงต้องมีการแบ่งงานเพื่อมอบหมายภารกิจให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของ สพฐ. ลงไปช่วยขับเคลื่อนในระดับเขตพื้นที่และระดับจังหวัด เพื่อเป็นต้นทางให้กับคณะทำงานที่ รมว.ศธ. แต่งตั้งขึ้นมา ที่จะลงไปติดตามความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่ โดย สพฐ. จะส่งบุคลากรเหล่านี้ร่วมลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและติดตามคณะทำงานด้วย
.
อีกเรื่องที่สำคัญ คือการที่ครูมีภาระงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอนเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการลดภาระงานของครูตรงส่วนนี้ จึงได้มีการจัดทำรูปแบบการพัฒนางานหรือการปรับปรุงงานที่จะลดภาระงานครูทั้งระบบ ตั้งแต่ลดภาระงานของเขตพื้นที่ งานในโรงเรียน และงานของคุณครู โดยมีเป้าหมายให้คุณครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกและงานสำคัญที่เราต้องทำโดยเร่งด่วน

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

อีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในขณะนี้ คือการเปิดภาคเรียนกับการเตรียมสอบของนักเรียนในระดับต่างๆ สำหรับเรื่องการเปิดภาคเรียน หากว่าสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็จะเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ หากไม่มีตัวแปรเรื่องโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลง และทาง ศบค. มีมติเห็นชอบให้โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนได้ ก็จะพร้อมเปิดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยได้สื่อสารไปยังโรงเรียนทั่วประเทศให้เตรียมทำความสะอาดหรือทำมาตรการรองรับในการเปิดเรียน ส่วนรูปแบบของการจัดการเรียนการสอน เราได้มีทางเลือกไว้ให้แล้วใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. On Site 2. On Air 3. Online 4. On Demand และ 5. On Hand ตามแต่สถานการณ์ของแต่ละโรงเรียน ซึ่งหากเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในหลายระดับชั้น ถ้าเปิดสอนในทุกระดับชั้นไม่ได้ ก็ให้เปิดสอนเด็กเล็กก่อนเพราะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองดูแล เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องทำงาน และหากสามารถเปิดเรียนได้หมดก็ให้เปิดได้เลย โดยคำนึงถึงประกาศของแต่ละจังหวัดเป็นฐานในการตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของทุกโรงเรียนและคุณครูทุกคนในขณะนี้มีความพร้อมแล้ว เว้นแต่มีคำสั่งห้ามในพื้นที่หรือจังหวัดใดก็ให้ปฏิบัติตามนั้น

.
สำหรับเรื่องการเตรียมการสอบในปีนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การทดสอบที่เป็นอำนาจของโรงเรียนหรือที่เรียกว่าการทดสอบระดับสถานศึกษา แบ่งเป็นการสอบกลางภาคและสอบปลายภาค หรือการสอบเลื่อนชั้น ในการสอบกลางภาคนั้นเราจะให้โรงเรียนและคุณครูเป็นคนกำหนดเองว่าจะสอบวันไหนและใช้เครื่องมืออะไรในการประเมินการสอบ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องใช้แบบทดสอบเท่านั้น อาจจะใช้เป็นใบงานโดยมอบหมายงานให้ทำและส่งชิ้นงานก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดของแต่ละรายวิชา ส่วนการสอบปลายภาคหรือการสอบเลื่อนชั้น ในปีนี้เราเปิดโอกาสให้การสอบ O-NET เป็นการสอบตามความสมัครใจ ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้ผลสอบ O-NET เป็นคะแนนส่วนหนึ่งในการจบการศึกษาของนักเรียนชั้น ป.6 และม.3 แต่ในปีนี้เราได้ประกาศไม่ให้นำผลสอบ O-NET ไปร่วมตัดสินผลการเรียนแล้ว ดังนั้นโรงเรียนต่างๆ ก็สามารถกำหนดการวัดและประเมินผลของตัวเองได้ว่าจะจัดแบบไหน โดยอาจใช้แบบทดสอบที่ สพฐ. ได้ทำเป็นแบบทดสอบส่วนกลางไว้ หรือโรงเรียนจะออกข้อสอบเอง หรือจะประเมินด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่แบบทดสอบก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยว่าสามารถเลื่อนชั้นเลยโดยไม่ต้องประเมินได้หรือไม่ ขอเรียนว่าสามารถเลื่อนชั้นได้แต่จะต้องมีการประเมินด้วย ซึ่งวิธีการประเมินไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้รูปแบบอื่นนำมาวัดและประเมินผลได้ โดยประเมินตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนเป็นสำคัญ
.
“ส่วนการประเมินในระดับชาติหรือ O-NET ที่กำหนดว่านักเรียนชั้น ม.6 ต้องเข้าสอบทุกคน ซึ่งมีกำหนดจะประเมินในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่าในช่วงเวลานั้นสถานการณ์โควิด-19 น่าจะเบาบางลงแล้ว คิดว่าน่าจะดำเนินการได้ตามปกติ ยกเว้นว่าหากเกิดวิกฤตการณ์อื่นขึ้นมาก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันต่อไป สำหรับนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ให้เป็นความสมัครใจของนักเรียนเอง ซึ่งนักเรียนคนใดที่ประสงค์จะเข้ารับการทดสอบ O-NET ให้สมัครผ่านทางระบบออนไลน์ โดยให้คุณครูในแต่ละโรงเรียนเป็นคนดำเนินการให้ ซึ่งต้องกรอกข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มา : ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button