ข่าวการศึกษา

ก.ค.ศ.ชะลอหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ PA

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) โดยมีมติให้ชะลอเกณฑ์ดังกล่าวไปก่อน พร้อมทั้งมอบสำนักงาน ก.ค.ศ.ไปปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

DSC_3749

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

 

ให้ชะลอการใช้หลักเกณฑ์และการประเมินวิทยฐานะครู ตามเกณฑ์ PA

จากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานจำนวน 2 คณะ โดยคณะที่ 1 ไปพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าว และคณะที่ 2 ไปกำหนดตัวชี้วัดด้านจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อใช้ประกอบการประเมิน

สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ได้ดำเนินการจัดประชุมสัมมนา โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับต่างๆ แล้ว ได้ผลเป็นดังนี้

1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามหลักเกณฑ์ PA มีข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้

  • การกำหนดให้มีการทดสอบความรู้ ความสามารถเชิงทฤษฎี และการประเมินประสบการณ์วิชาชีพ อาจไม่ใช่แนวทางที่จะวัดศักยภาพของผู้ขอได้ และอาจเกิดความไม่เสมอภาคระหว่างครูที่อยู่ในเมืองกับครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

  • ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะจำนวนมากคือ 145,549 คน หากมีกรรมการประเมิน 2 ชุด อาจไม่สามารถสรรหากรรมการมาประเมินได้

  • งบประมาณที่ใช้ในการประเมินแต่ละราย มีค่าใช้จ่ายสูง หากมีคำขอเป็นจำนวนมากจะมีผลกระทบทางด้านงบประมาณ

  • การกำหนดระยะเวลาการพัฒนางานตามข้อตกลง เป็นเวลา 2 ปี จะทำให้ผู้ขอรับการประเมินไม่สามารถย้ายได้ เป็นระยะเวลาที่นานเกินไป และอาจเป็นปัญหาในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับผู้เรียนต่างกลุ่ม

  • การให้ครูทำข้อตกลงในการพัฒนางาน ครูอาจมุ่งพัฒนาเฉพาะนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยละเลยหน้าที่ในการพัฒนาผู้เรียนที่รับผิดชอบทั้งหมด

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมจึงได้เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ให้มีการพิจารณาแง่มุมต่างๆ ให้รอบคอบ รอบด้าน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน

  • ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และจิตวิญญาณความเป็นครู

  • มุ่งเน้น Outputs และ Outcomes ที่เกิดกับผู้เรียนและคุณภาพการศึกษา

  • กำหนดให้มีช่องทางที่หลากหลายในการเข้ารับการประเมินวิทยฐานะ และให้โอกาสครูในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล ได้รับการประเมินวิทยฐานะอย่างเสมอภาค

  • สร้างมาตรฐาน กำกับ ดูแลที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

2. การประเมินจิตวิญญาณความเป็นครู

ได้สรุปคุณลักษณะของการมีจิตวิญญาณความเป็นครูจากการปฏิบัติตน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านตนเอง ด้านผู้เรียน ด้านวิชาชีพ ด้านผู้ร่วมวิชาชีพ และด้านสังคม ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.จะได้นำไปขยายผลในการจัดทำตัวชี้วัดต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอแนะจากที่ได้มีการจัดประชุมสัมมนาดังกล่าว จึงมีมติ ดังนี้

            1. ให้ชะลอการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ PA ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงและประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่
2.
เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น และให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 เดือน (ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558)
3.
แนวทางที่ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องสอดคล้องกับ 3 ข้อ คือ 1) การที่ครูจะต้องไม่เบียดบังเวลาสอนเด็กนักเรียน 2) ให้มีมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานทางจิตวิญญาณความเป็นครู 3) กลุ่มเป้าหมายครูแต่ละลักษณะทั้ง 3 กลุ่ม อาจมีวิธีไม่เหมือนกัน แตกต่างกันได้ และควรหลอมรวมเกณฑ์ต่างๆ ให้เหลือเกณฑ์ใหม่เพียงรูปแบบเดียว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ ผู้จะขอรับการประเมินยังคงสามารถใช้หลักเกณฑ์การประเมินในปัจจุบัน คือ ว 17/2552 (การจัดทำผลงานทางวิชาการ) หรือ ว 13/2556 (เกณฑ์เชิงประจักษ์) ไปก่อนได้

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิกา

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button