นายกกล่าวถึงกระทรวงศึกษาธิการ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ
เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2558 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เวลา 20.15 น. ดังนี้
การประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ผมได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งภาคการศึกษา ภาคตลาดแรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีการบูรณาการงานกัน เพื่อกำหนดนโยบายในเรื่องการผลิตและการใช้แรงงาน ให้เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อจะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แนวคิด “อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ”อาทิ (1) ให้สถาบันอาชีวศึกษา ร่วมกับสถานประกอบการ เปิดหลักสูตรเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทาง โดยปีการศึกษา 2559 นำร่องในสาขาวิชาพาณิชย์นาวี ขนส่งระบบราง ปิโตรเคมี แม่พิมพ์ การผลิตไฟฟ้า การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีอาหารปลอดภัย
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
สำหรับปีการศึกษา 2560 จะเปิดเพิ่มในสาขาปิโตรเลียม ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโรงแรม โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมกับศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย แต่วันนี้เราอาจจะต้องนำร่องด้วยการต่อยอดผู้ที่จบมาแล้วยังไม่มีงานทำ พัฒนาให้ไปสู่แรงงานที่มีฝีมือและตรงกับความต้องการของตลาดในปีหน้านี้ด้วย AEC ทำอย่างไรจะมีทั้งที ถ้ารอปี 2559 – 2560 กว่าจะจบก็อีกหลายปี (2) ให้มีความร่วมกับมิตรประเทศในการส่งนักศึกษา ปวส. ไปฝึกงานในหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อสร้างความพร้อมรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และ (3) ให้มีระบบ “ทวิศึกษา” ให้กว้างขวางขึ้นในระดับการเรียนสายสามัญควบคู่กับสายอาชีพ เมื่อเรียนจบแล้วก็จะได้รับทั้ง 2 วุฒิ สามารถทำงานได้ทันที โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าเล่าเรียน และอุปกรณ์ประจำตัว เป็นต้น อยากจะเชิญชวนให้มาเรียนสายอาชีวะให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสถาบัน เลิกกันได้แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น
สำหรับนโยบาย “ลดเวลาเรียน…เพิ่มเวลารู้” นั้น ผมเห็นว่านักเรียนจำนวนมากมีปัญหาในเรื่องความสุข เพราะมีการบ้านมาก เรียนในห้องก็เครียดมาก อะไรมาก แต่ขาดทักษะต่าง ๆ ไปด้วย ทั้งเครียด ทั้งขาดทักษะ ทำงานไม่ได้อะไรทำนองนึ้ ไม่เรียนรู้ รู้อย่างเดียวเพื่อจะสอบ เพื่อจะไปเอาปริญญาอย่างนี้ผมว่าไม่ใช่ ผลสัมฤทธิ์ไม่เท่ากับที่เรียนไป ทำอย่างไรเด็กไทยจะ “คิดเป็น” นี่เป็นโจทย์สำคัญ การศึกษาควรให้มากกว่าความรู้ ต้องให้ผู้เรียนมีทักษะการทำงานร่วมกันหรือที่เรียกว่า Teamwork วันนี้ประเทศไทยค่อนข้างจะขาด Teamwork ทำงานร่วมกันไม่ค่อยได้ มีความคิดสร้างสรรค์ แสวงหาจุดร่วม จุดต่างเอาไว้ก่อน รู้จักการแก้ปัญหาเร่งด่วน จัดลำดับของปัญหาให้ได้ ทั้งนี้ทุกคนจะต้องมีความพร้อมเพื่อจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย จึงจะสามารถส่งเสริมการพัฒนาประเทศโดยรวมได้ในทุกมิติ โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าในเรื่องการศึกษานี้มีหลายอย่างด้วยกัน (1) ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู เกิดขึ้นได้หรือยัง (2) ให้ครูสอนเด็ก ให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกันเอง แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า อ่อนกว่า และ (3) ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี ทั้งนี้ ก็จะต้องไม่ทำให้ด้านวิชาการของเด็กตกต่ำลง
สำหรับการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันได้ยึดหลักการสำคัญ คือ (1) ไม่กระทบเนื้อหาใน 8 กลุ่มสาระหลัก (2) ใช้ทฤษฎีในการศึกษา 4H (Head Heart Hand Health) ให้เหมาะสมกับช่วงวัย หรืออาจพูดง่าย ๆ คือ การเรียนที่ต้องส่งเสริมให้ “สมองดี มีคุณธรรม มีทักษะ และมีสุขภาพแข็งแรง” ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน และชีวิตการทำงานต่อไปด้วย และ (3) มีการประเมินผลการปฏิบัติ สำหรับการพัฒนาไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่อไปในเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณ และไม่ใช่สำหรับบุคลากรทางการศึกษาอย่างเดียว เด็กต้องมีส่วนร่วมในการประเมินด้วย ผลงานที่มีต่อเด็ก ต่อโรงเรียน ต่อสถานศึกษา ผมสั่งไปแล้ว
ขณะนี้มีโรงเรียนที่พร้อมในเรื่องการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มีโรงเรียนที่พร้อมสมัครใจเข้าร่วม จำนวน 4,100 โรงเรียน ทั่วประเทศ มีเมนู 381 กิจกรรมให้เลือกใช้ ทุกโรงเรียนอาจจะมีความพร้อมไม่เท่ากัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบเพราะจะได้มีการประเมินผลว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ในระยะเริ่มต้นกระทรวงศึกษาธิการจะส่ง Smart Trainers เป็นพี่เลี้ยงช่วยวางแผนการเรียนการสอน และจัดตารางกิจกรรม รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ใครที่ไม่ได้ฟังผมวันนี้ ใครที่ฟังก็ไปบอกเขาด้วย บางครั้งผมเห็นครูบางคน สถานศึกษาบางแห่ง บอกไม่รู้เรื่องดีแต่สั่งการลงไป นี่เขาทำให้หมดแล้ว เพียงแต่ท่านต้องขวนขวายบ้าง เขตการศึกษาท่านต้องมารับผิดชอบด้วย ไม่อย่างนั้นเขตการศึกษาก็เหมือนเดิม ท่านต้องปรับปรุงวิธีการทำงานของท่าน ผมไม่ได้ตำหนิท่านว่าไม่ได้ทำงาน แต่ท่านต้องทำให้ตรงกับนโยบายของเรา
ที่มา : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/program1/item/97124-id97124.html