เห็นชอบ กรอบแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาด้วย AI
เห็นชอบ กรอบแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาด้วย AI
เมื่อคราวประชุม คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ เรื่อง เห็นชอบ กรอบแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ว่า
ตามที่ ก.ค.ศ. ในการประชุมครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบหลักการเกี่ยวกับการจัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งยังได้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ โดยกำหนดให้การมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา และการผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นหนึ่งในคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ตาม ว3/2564 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
โดยการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษานี้ เป็นการพลิกโฉมการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีแนวคิดในการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ และมีสมรรถนะตรงตามมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ ก.ค.ศ. กำหนด เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาแล้วสามารถปฏิบัติงานได้ทันที โดย ก.ค.ศ. ได้ปรับมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูฯ และปรับปรุงกรอบการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยมีการดำเนินการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร 4 ขั้นตอน ดังนี้
(1) Screening การให้ผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินสมรรถนะและพัฒนา ก่อนเป็นผู้มีคุณสมบัติในการเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาด้วยการประเมินความเหมาะสมในการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในรูปแบบ 360 องศา หากผ่านเกณฑ์ จึงจะเข้าสู่การประเมินสมรรถนะ 6 กลุ่มหลัก 19 สมรรถนะย่อยโดย AI เพื่อค้นหาสมรรถนะหรือทักษะที่มี ที่ขาด ที่ควรพัฒนาหรือต่อยอด
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
(2) Developing เข้ารับการพัฒนาสมรรถนะหรือทักษะ ตามผลการวิเคราะห์ของ AI ผ่านระบบออนไลน์และ e – Learning ตามหน่วยการเรียนรู้และระยะเวลาที่ ก.ค.ศ. กำหนด
(3) Selection กรณีผ่านการพัฒนาจะได้รับใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะเพื่อนำไปใช้เป็นคุณสมบัติหนึ่งในการเข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตำแหน่งโดยส่วนราชการ ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา
(4) Proposed Successor เมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งให้มีการทำบันทึกข้อตกลงพัฒนางาน (PA) ควบคู่ไปกับการพัฒนาในรูปแบบ Coaching และ Mentoring โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือวิทยากรพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิควิธีการในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ก.ค.ศ. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเข้ารับการประเมินสมรรถนะและการพัฒนาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการดำเนินการ โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. เตรียมจัดทำระบบในการพัฒนาด้วยระบบ e- Learning เพื่อไม่กระทบเวลาในการจัดการเรียนรู้หรือบริหารสถานศึกษาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และนำเทคโนโลยี AI มาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการวางแผนพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับแต่ละบุคคลโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาต่อไป
ที่มา : https://otepc.go.th/th/content_page/item/5115-2024-09-26-10-05-43.html